Made with Tripod.com

เปลี่ยนตาน้ำ ให้เครื่อง 1.8 กอล์ฟ/เวนโต้/คอร์โดบา และเครื่อง 2.0 พาสสาท B4

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฎ์ jittik@mozart.inet.co.th


เครื่องยนต์ของรถเราระบายความร้อนด้วยน้ำที่ผสมกับน้ำยาหล่อเย็นในสัดส่วนพอเหมาะ โดยการใช้ปั๊มซึ่งถูกฉุดให้หมุนด้วยสายพาน สร้างแรงดันให้น้ำไหลผ่านชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ที่ต้องการระบายความร้อนออกไปทิ้ง ( ดูรายละเอียดในเรื่อง "การเปลี่ยนปั๊มน้ำ" ) จากนั้นก็ให้น้ำ ซึ่งพาเอาความร้อนติดออกมาด้วย ไหลผ่านหม้อน้ำด้านหน้ารถ ซึ่งมีครีบระบายความร้อน และถูกพัดลมเป่าให้เย็นลง ( ดูรายละเอียดในเรื่อง "การเปลี่ยนพัดลมไฟฟ้า" ) เมื่ออุณหภูมิลดลงแล้วจึงป้อนกลับให้ปั๊มน้ำดูดกลับเข้าไปในเครื่องยนต์อีก หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องกันไปเช่นนี้

จะเห็นได้ว่าวงจรระบายความร้อนด้วยน้ำเป็นระบบปิด ซึ่งหมายความว่าหากไม่มีการรั่วซึมอย่างรุนแรงที่จุดใดจุดหนึ่ง ระดับน้ำให้หม้อพักน้ำก็ไม่ควรลดพร่องลงอย่างเห็นได้ชัด หรือต่อให้มีการรั่วซึมในปริมาณที่เล็กน้อย น้ำผสมน้ำยาหล่อเย็นในสัดส่วนที่พอเหมาะนั้น ก็จะมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือ สามารถแห้งเป็นคราบตกสะเก็ดคล้ายๆ สะเก็ดเลือดแผลถลอก สามารถอุดรอยรั่วซึมนั้นได้เองในระดับหนึ่ง แต่หากเมื่อใดที่ระดับน้ำลดลงมาก ก็แสดงว่าแผลรั่วซึมมันรุนแรงจนคราบตกสะเก็ดเยียวยาไม่ไหวแล้ว สิ่งที่ควรจะทำภายหลังจากเติมน้ำให้ได้ระดับแล้วก็คือตรวจหาร่องรอยการรั่วซึมให้พบ เพื่อรักษาเยียวยาให้ตรงจุด เพราะมิฉะนั้นน้ำที่เติมเข้าไปมันก็จะรั่วออกมาได้อีกเหมือนเดิม
โดยทั่วไปจุดที่มีโอกาสเกิดการรั่วซึมได้ง่าย มักจะเป็นรอยต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ที่มาประกบ หรือสวมเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อผ่านการใช้งานมาเป็นแสนๆ กม. ความกระชับแน่น มันก็คลายตัวออกมา อันอาจเกิดจากการเสื่อมสภาพของวัสดุจำพวกยาง หรือการเสียรูป แตกร้าว บิดเบี้ยว ของวัสดุจำพวกพลาสติคที่มีอายุการใช้งานจำกัด หรืออาจเกิดจากการสึกหรอของอุปกรณ์นั้นๆ เอง เช่นการสึกหรอของปั๊มน้ำ เป็นต้น

ในกรณีนี้จะชี้ให้เห็นถึงการรั่วซึมที่ "ตาน้ำ" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดไว้กับตัวเครื่องยนต์ สำหรับให้ท่อยางมาสวมและมีแหวนสปริงรัดเอาไว้ "ตาน้ำ" ( ทำไมเรียกอย่างนั้นก็ไม่รู้ สงสัยเป็นคำผวนมาจาก "น้ำตา" ) ทำจากพลาสติค ด้านหนึ่งเป็นปลายท่อ ส่วนอีกด้านหนึ่งที่ติดกับเครื่องยนต์จะมีลักษณะแบนเมื่อประกบลงไปให้ตรงตำแหน่ง ท่อจะอยู่ตรงกับรูระบายน้ำของเครื่องยนต์พอดี โดยมีแหวนยาง โอริง กันการรั่วซึม ประกบไว้ในร่องระหว่างรอยต่อ ตามที่เห็นในภาพประกอบ
ตาน้ำจะมีสองตัว ตัวด้านหน้าสำหรับจ่ายน้ำออกจากเครื่องยนต์เพื่อเอามาระบายความร้อนทิ้งที่หม้อน้ำ และเป็นที่ให้เซนเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำเสียบติดอยู่ ส่วนตัวด้านข้างสำหรับหมุนเวียนน้ำไปสร้างความร้อนให้กับ ฮีทเตอร์ ในระบบปรับอากาศ และออล์ยคูลเลอร์ในกรณีที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ หากพบรอยรั่วซึมเป็นคราบเปียกๆ ที่เครื่องยนต์และแน่ใจว่าสาเหตุมาจากตาน้ำแน่ ๆ ก็จงรีบไปซื้ออะไหล่พร้อมกับโอริงมาทันที อะไหล่ตาน้ำ VW จะทำมาเผื่อใช้กับเครื่องยนต์หลายๆ รุ่น ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องใช้ "ปลั๊กอุด" เพิ่มเติมถ้าหากว่าอะไหล่ที่ซื้อมาดันเป็นอันที่มีรูเกินจากอุปกรณ์ในรถ รายละเอียดในเรื่องนี้ผู้ขายอะไหล่ที่มีความรับผิดชอบจะทราบดี และจะให้คำแนะนำหากทราบว่าเราจะเอาไปติดตั้งในรถรุ่นไหน แต่ถ้าโหงวเฮ้งหรืออุปนิสัยของผู้ขายอะไหล่ไม่น่าไว้วางใจนัก วิธีที่ดีที่สุดก็คือถอดเอาอะไหล่เดิมออกไปเทียบ ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาเพราะในระหว่างนั้นรถจะหงิกรับประทาน วิ่งไปไหนไม่ได้

ติ๊งต่างว่า เราได้อะไหล่ที่ถูกต้องมาแล้ว ก็จัดแจงหาที่จอดรถเหมาะๆ ในบริเวณที่พื้นจะเปียกได้โดยไม่มีใครบ่น ดับเครื่องและเปิดฝากระโปรงทิ้งไว้สักชั่วโมงหนึ่ง เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำลดลงจะได้ไม่ลวกมือพอง ซึ่งจะทำให้เสียบุคลิกในระหว่างซ่อมรถ แล้วก็พิจารณารอบ ๆ ข้างตาน้ำตัวที่จะถอด ว่ามีอุปสรรคจำพวกสายหัวเทียน สายคันเร่ง สายไฟ เกะกะขวางทางทำให้ทำงานลำบากหรือไม่ หากมีอุปสรรคเหล่านี้ก็ให้ถอดหลบก่อน ( ต้องจำตำแหน่งให้ได้ เพื่อที่จะประกอบกลับถูก ) เมื่อ Clear หนทางสะดวกแล้วก็ลงมือถอดท่ออันใหญ่ที่เสียบติดอยู่กับตาน้ำออกมาก่อน ด้วยการใช้คีมปากกว้าง หนีบแหวนสปริงรัดปลายท่อยางให้คลายตัว แล้วค่อยๆ ขยับท่อยางให้หลุดออกมา เมื่อถอดท่อออกมาได้แล้ว ก็จะมีน้ำบางส่วนที่ค้างอยู่ในท่อไหลออกมา ถ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยให้ไหลทิ้งไปสักพักมันก็จะหยุดเอง แล้วอย่าลืมเติมกลับเข้าไปให้ได้ระดับเดิมเมื่อเสร็จงาน และถ้าบนตาน้ำมีอุปกรณ์เสียบประกอบอื่นๆ เช่น เซนเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำ หรือท่อทางอื่นๆ ก็ให้ปลดสายไฟ และท่อทางเหล่านั้นให้หมด เพื่อให้ตาน้ำเป็นอิสระจากบ่วงกิเลส และพันธนาการทั้งปวง

หลังจากนั้นก็คลายน็อตสองตัวที่ยึดตาน้ำเข้ากับเครื่องยนต์ แล้วก็จะสามารถถอดตาน้ำออกมาได้ และที่หน้าสัมผัสระหว่างตาน้ำกับเครื่องยนต์ก็จะพบซากโอริงอันเก่า ที่บี้แบนและหงิกงอ ให้แคะออกมาและทำความสะอาดคราบต่างๆ ในบริเวณนั้นให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยแปรงสีฟันเก่าๆ พร้อมกับเช็ดให้แห้ง จากนั้นให้รื้ออุปกรณ์เสียบประกอบ ( ถ้ามี ) ออกจากอะไหล่ตาน้ำอันเก่า ทำความสะอาดและย้ายเอาไปติดตั้งไว้กับอะไหล่ตาน้ำอันใหม่ ในกรณีที่อะไหล่อันใหม่มีรูเกินเนื่องจากทำเผื่อเอาไว้ใช้กับเครื่องยนต์รุ่นอื่นๆ ก็จำเป็นที่จะต้องประกอบ "ปลั๊กอุด" เพิ่มเติมเข้าไปในตอนนี้
ก่อนที่จะประกอบอะไหล่ตาน้ำอันใหม่กลับเข้าไป ให้พิจารณาเปรียบเทียบบริเวณหน้าสัมผัสระหว่างตาน้ำทั้งสองอัน ดูว่าอะไหล่อันเก่ามันมีร่องรอยแตกร้าว อันเป็นสาเหตุของการรั่วซึมที่เห็นได้ชัดเจนตรงไหนอย่างไร ถ้าหากบังเอิญตรวจพบ ตัวอย่างเช่น รอยร้าวในภาพประกอบ ก็สามารถซ่อมแซมด้วยการอุดกาว Epoxy ชนิดทนความร้อน ทนสารเคมี แล้วเก็บติดท้ายรถไว้เป็นอะไหล่ฉุกเฉิน เผื่อว่าจะงัดออกมาใช้เอาตัวรอดได้ในยามคับขัน หลังจากนั้นก็ประกอบตาน้ำอันใหม่กลับเข้าไป และจัดการประกอบอุปสรรคต่างๆ ที่ถอดหลบเอาไว้ให้เข้าที่เข้าทางตามเดิม

คราวนี้ก็ได้เวลาวัดดวง โดยเตรียมน้ำผสมน้ำยาหล่อเย็นที่จะเติมเพิ่มกลับเข้าไปสักประมาณ 2 ลิตร ( ดูรายละเอียดการผสมน้ำยา วิธีการไล่ลม และวิธีการเติม ในเรื่องการเปลี่ยนปั๊มน้ำ) ติดเครื่องยนต์และค่อยๆ เติมน้ำยากลับจนได้ระดับ และให้สังเกตบริเวณรอบๆ ตาน้ำที่เพิ่งเปลี่ยนว่ายังมีการรั่วซึมอีกหรือไม่ ในกรณีที่ใช้อะไหล่และโอริงขนาดถูกต้อง หน้าสัมผัสสะอาด การประกอบกลับไม่ใจร้อน หรือหลงลืมอะไร รับรองว่าอาการรั่วซึมตกสะเก็ดจะหายขาด งานนี้คุณหมึกแดงให้ดาว ... อุ๊ย ผิดจุด ... หนังสือคู่มือซ่อม Haynes ให้ระดับความยากเอาไว้แค่ ประแจปากตาย 2 อันแค่นั้นเอง มือใหม่ใจถึงเพียงเล็กน้อยก็ลองได้แล้วครับ หากได้ลองและประสบผลสำเร็จ คุณจะทวีความใจถึงไปได้ในระดับประแจปากตาย 3 อัน ซึ่งจะสามารถรื้อเปลี่ยนปะเก็นฝาครอบวาล์ว และรื้อทำความสะอาดชุดหัวฉีดได้แบบไม่ต้องง้อใคร

คำบรรยายภาพประกอบ

ตรงลูกศรสีเหลืองชี้ คือตาน้ำด้านข้างเครื่องยนต์ จะเห็นว่ามีท่อและสายคันเร่งเกะกะอยู่ด้านบน ซึ่งต้องขยับหลบให้ทางสะดวกก่อนลงมือนะครับ
เมื่อถอดออกมาแล้วก็มีสภาพเน่าอย่างนี้แหละครับ แหวนยางโอริงมีคราบรั่วซึมเป็นสะเก็ดอยู่โดยรอบ และที่ผิวหน้าสัมผัสของตาน้ำได้บิดเบี้ยวเสียรูปไปแล้ว
ตรงลูกศรสีน้ำเงินชี้ คือตาน้ำด้านหน้าเครื่องยนต์ ที่เสียบอยู่ข้างบนเป็นเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำ ส่วนด้านล่างที่เป็นคราบเขียว ๆ แฉะอยู่นั่น คือร่องรอยการตกสะเก็ดของน้ำยาหล่อเย็น ในภาพนี้ได้ถอดสายหัวเทียนที่เกะกะอยู่หลบออกไปเพื่อให้ทำงานสะดวกขึ้น
ภาพนี้ถอดตาน้ำออกมาวางบนฝาครอบวาล์ว แสดงให้เห็นหน้าสัมผัสของตาน้ำ กับปลายท่อระบายน้ำของเครื่องยนต์ว่ามันประกบกันอยู่อย่างไร และแหวนยางโอริงทำหน้าที่กันรั่วได้อย่างไร ที่เห็นหัวเทียนโด่อยู่อย่างนั้น เพราะได้ถอดสายออกไปชั่วคราวนะครับ
เมื่อเอาตาน้ำมาตรวจสอบกันใกล้ ๆ ก็จะเห็นคราบรอยรั่วซึม ความชำรุดของหน้าสัมผัส และความเละเทะของแหวนยางโอริง
ดูกันให้ใกล้เข้าไปอีก ตรงลูกศรสีเหลืองชี้ จะเห็นรอยแตกร้าวในเนื้อวัสดุของตาน้ำ อันเป็นต้นตอของการรั่วซึม ซึ่งผมได้ใช้กาวอีพอกซี่ชนิดดินน้ำมัน ซึ่งเหลือมาจากการซ่อม TPA เอามาปะอุดไว้ และเก็บไว้ท้ายรถเป็นอะไหล่ฉุกเฉิน