Made with Tripod.com

ซ่อม TPA ในเครื่อง 1.8 ของ โฟล์ค กอล์ฟ / เวนโต้, เซียท คอร์โดบา

ปฐมบทแห่งการรื้อ : คุณหนึ่ง, คุณอนุรัตน์, คุณจิตติ
บรรยายความ : คุณจิตติ


TPA ย่อมาจาก Throttle Positioning Actutator แปลอังกฤษเป็นไทยตามสำนวนนักเรียนเก่า Oxford ( ฉบับหน้าปกรูปพระปรางค์วัดอรุณ ) ได้ความว่า “อุปกรณ์ควบคุมตำแหน่งลิ้นปีกผีเสื้อ” ถ้ายังฟัง ดูทะแม่งๆ ก็มีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกกันทั่วไปตามสำนวนเจ๊ร้านอะไหล่ว่า “มอเตอร์เดินเบา” ซึ่งในที่นี้ เจ๊ได้ใช้คำศัพท์รูปย่อในฐานะเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป โดยมาจากคำศัพท์รูปเต็มคือ “มอเตอร์ชดเชยรอบเดินเบา” 

ในรถยนต์เครื่องหัวฉีดโดยทั่วไป จะมี TPA ซึ่งทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ output ของคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ วิธีการควบคุมก็มีหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป แล้วแต่การออกแบบเครื่องยนต์นั้นๆ เช่นพวกหัวฉีด Multi Point หรือ Direct Injection อุปกรณ์ TPA จะมีลักษณะเป็นวาล์วไฟฟ้า คอยควบคุมเฉพาะปริมาณอากาศที่ถูกดูดเข้าห้องเผาไหม้ ส่วนพวกหัวฉีดเดียวกระเทียมลีบ Single Point อย่างเครื่อง 1.8 ของกอล์ฟ / เวนโต้ / คอร์โดบา อุปกรณ์ TPA จะมีลักษณะเป็น “เท้า” ไฟฟ้า คอยถีบให้ลิ้นปีกผีเลื้อเปิดอ้าออกในตำแหน่งต่างๆ ในอาการเดียวกับการที่คนขับเหยียบคันเร่ง ซึ่งการควบคุมตำแหน่งลิ้นปีกผีเสื้อนี้ จะเป็นการควบคุมปริมาณไอดี ( อากาศที่ผสมกับละอองน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหัวฉีดได้ฉีดออกมาแล้ว ) โดยตรง

สาเหตุที่ต้องมี TPA ก็เนื่องจากเครื่องยนต์ควรจะใช้รอบการทำงานที่เหมาะสมในภาวะแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นการทำ Cold Start ในตอนเช้าขณะที่เครื่องเย็นแล้วจอดนิ่งๆ ยังไม่ขับไปไหน หากเราสังเกตเข็มวัดรอบ จะพบว่าทันทีที่เครื่องยนต์ติด มันจะทำงานที่รอบประมาณ 1200 รอบ/นาที เป็นการเร่งให้เครื่องอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เหยียบคันเร่งสักนิด และเมื่อเครื่องยนต์เริ่มอุ่นขึ้นแล้ว รอบก็จะลดลงมาเหลือประมาณ 850 รอบ/นาทีโดยอัตโนมัติ หรือเมื่อเราเปิดแอร์ ซึ่งคอมเพรสเซอร์ของแอร์จะค่อนข้างกินกำลังเครี่อง หากสังเกตเข็มวัดรอบ ก็จะพบว่ามันจะกระเพื่อมตกลงไปนิดเดียวในจังหวะที่คลัตช์แอร์จับตัว แต่หลังจากนั้น
รอบก็จะเร่งชดเชยขึ้นมาที่ประมาณ 850 รอบ/นาทีโดยอัตโนมัติอีกเช่นกัน หรืออีกในกรณีหนึ่งสำหรับรถเกียร์อัตโนมัติ เมื่อเราเหยียบคันเร่งจนรถออกตัววิ่งไปในเกียร์ต่างๆ กันด้วยความเร็วประมาณ 100 กม./ชม. แล้ว อยู่ๆ เราเกิดอยากทำอาการ “เท้าบอน” เล่น โดยถอนเท้าออกจากคันเร่งเสียดื้อๆ ในกรณีนี้ซึ่งจะรู้สึกได้ชัดถ้าถอดรองเท้าขับรถ หากเราสัมผัสปลายเท้ากับคันเร่งแต่เพียงแผ่วๆ โดยไม่ต้องออกแรงกด เราจะรู้สึกได้ว่าคันเร่งมันขยับดุ๊กดิ๊กได้เองเหมือนผีหลอก ในขณะที่เกียร์เปลี่ยนจังหวะต่ำลงรอบมันก็จะเร่งขึ้นเองให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ( ไม่ต้องก้มลงไปดูนะครับ เดี๋ยวชนรถไฟตกรางแย่เลย ) … อาการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นผลมาจากการทำงานของ TPA ทั้งนั้น โดย ECU ( Engine Control Unit ) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ เขาจะจัดการสั่งการกันโดยตรง โดยประมวลผลเอาจากข้อมูล Input ที่วัดได้จาก Sensor ต่างๆ เช่นความเร็วรถ ตำแหน่งเกียร์ องศาการเปิดของลิ้นปีกผีเสื้อ ความเร็วรอบเครื่องยนต์ อุณหภูมิเครื่องยนต์ และอื่นๆ ซึ่งเมื่อเอามาคิดสาระตะรวมกันแล้ว ECU ก็สั่ง TPA ผ่านสายไฟออกไปว่า “ เฮ้ย … อย่างนี้ต้อง 1200 รอบนะ ” TPA ซึ่งเป็นลูกน้องว่านอนสอนง่าย ก็ต้องรีบปฏิบัติตาม สมมุติว่าในขณะนั้นรอบเครื่องยนต์ยังสูงไม่พอ เนื่องจากเป็นวินาทีที่คนขับมีอาการคันหน้าแข้งข้างซ้ายแล้วใช้ปลายเท้าขวา ละจากคันเร่งมาเกาพอดี TPA ก็จะทำหน้าที่ “เท้าไฟฟ้า” ถีบพรวดเข้าให้ที่แกนคล้องสายคันเร่ง ทำให้วาล์วลิ้นปีกผีเสื้ออ้าออกในตำแหน่งที่ ECU ต้องการ ไอดีก็ไหลเข้าห้องเผาไหม้ได้เพิ่มมากขึ้น รอบเครื่องก็สูงขึ้น เรื่องมันก็เป็นอีแบบนี้แหละครับท่านสารวัตร …

โดยทั่วไป TPA จะเป็นที่รู้จักของคนขับก็ต่อเมื่อมันชำรุด ซึ่งเครื่องจะมีอาการสั่นรุนแรง “เดินเบา” ไม่ได้ และเมื่อช่างที่ศูนย์บริการตรวจเช็คด้วย VAG 1551 แล้วเดินส่ายหน้ามาบอกคุณว่า “ มอเตอร์เดินเบาเสียนะพี่ … อย่างนี้ต้องทิ้งรถไว้สักสองเดือนมั้ง ช่วงนี้รถเยอะด้วยนะพี่ … หูยยยยย … คิวมันยาว ผมว่าถ้าจะให้ชัวร์ ออกพรรษาแล้วพี่ค่อยโทรมาเช็คนะว่าเสร็จหรือยัง จะให้ผมนัดเลยตอนนี้ไม่ได้จริงๆ อะไหล่ตัวนี้ต้องเบิกโกดังด้วย ยังไงถ้าจะเอาพี่ต้องจ่ายมัดจำไว้ก่อนด้วยนะ ตัวละแสนแปดเอง ” เมื่อได้อารมณ์ประมาณนี้แล้ว ก็ถึงคราวที่ชาวนาจะต้องกำเคียว ชาว VW-Thai ต้องกำไขควง รื้อมันออกมาดูซะให้เห็นกับตา ว่ามันเป็นฉันใด

ก่อนจะลงมือ ขอทำความเข้าใจกันหน่อยว่า TPA เป็นอุปกรณ์สำคัญมากในระบบ หากไปชำรุดเสียหายกลางป่าในเส้นทาง พังงา-ระนอง คุณอาจจำต้องจอดรถหงิกรับประทานทิ้งเอาไว้ แล้วขี่ช้างเดินต้วมเตี้ยมกลับไปซื้ออะไหล่ที่ภูเก็ต ดังนั้นเมื่อมันชำรุดเสียหาย วิธีที่ดีที่สุดคือซื้ออะไหล่อันใหม่มาเปลี่ยน ราคาอันละประมาณ 3,500.- บาท สามารถทำเองได้ไม่ยาก และเมื่อเปลี่ยนแล้วอันเก่าอย่าทิ้ง ให้เอามาซ่อมตามในบทความนี้ ซึ่งจะชุบชีวิตให้มันกลับมาทำงานได้สักประมาณ 90% ของของใหม่ และเมื่อทดลองแล้วว่ามันใช้การได้ ก็ให้ถอดเก็บติดเอาไว้ท้ายรถเป็นอะไหล่ฉุกเฉิน เผื่อคราวหน้าอะไหล่อันใหม่เกิดไปพังในเส้นทาง พังงา-ระนอง ซ้ำเข้าอีก จะได้ไม่ต้องลำบากช้างเนื่องจากการถอดชิ้นส่วน TPA นี้ค่อนข้างอธิบายยาก แต่ถ้าเข้าใจหลักการทำงานของมันแล้วจะง่ายนิดเดียว ดังนั้นขอให้ดูภาพประกอบตามไปทีละขั้นตอนนะครับ

ภาพที่ 1 ที่ลูกศรชี้ คือชิ้นส่วนด้านหน้าของตัว TPA ในมุมมองที่มองเข้าไปจากด้านหน้ารถยนต์ มันจะติดอยู่กับ Throttle Body ซึ่งอยู่ใต้ชุดหัวฉีด ถ้าจะให้ง่าย ไล่มาจากกล่องใส่ไส้กรองอากาศด้านซ้ายมือ 
ฝั่งตรงกันข้ามกับแบตเตอรี่ที่อยู่ด้านขวามือ จะมีท่ออากาศกลมๆ เลื้อยจากกล่องไส้กรองอากาศไปยังชุดหัวฉีด ใต้ชุดหัวฉีดก็คือ Throttle Body แล้วคุณก็จะพบ TPA แต่ในภาพเพื่อความสะดวกในการถ่ายทำ คุณอนุรัตน์
ได้ถอด Throttle Body ออกมาจากตัวรถ แล้วเอามาวางบนม้านั่งหินขัดหน้าบ้าน
ภาพที่ 2 พลิกมาดูด้านซ้ายมือของภาพที่ 1 ตรงมือจับคือที่คล้องสายคันเร่ง ( Spindle Plate ) ซึ่งแกนของมันที่สอดทะลุเข้าไปใน Throttle Body ก็คือแกนของลิ้นปีกผีเสื้อ ( Throttle Valve ) ส่วนตรงลูกศรชี้ก็คือส่วนที่เป็น “เท้าไฟฟ้า” ของ TPA ซึ่งตอนนี้มันหดอยู่ เวลามันมีอารมณ์ยืดยาวออกมา มันก็จะถีบส่วนล่างของที่คล้องสายคันเร่ง ทำให้แกนของลิ้นปีกผีเสื้อหมุนพลิกตามไปด้วย ในอาการเดียวกันกับที่คนขับ
เหยียบคันเร่ง ในภาพนี้จะเห็นขั้วในปลั๊กของ TPA ซึ่งมีอยู่ 6 ขั้ว ( เครื่องรุ่นปี 94 จะมีเพียง 4 ขั้ว ) ในรถยนต์จะมีสายสัญญาณจาก ECU มาเสียบอยู่กับปลั๊กนี้ ก่อนถอด TPA ต้องปลดปลั๊กนี้ออกก่อน ซึ่งก็สามารถดึงออกมาได้ง่ายๆ ตามในภาพถ้าหากเราต่อสายไฟจากขั้วบนสุดกับล่างสุด ขั้วที่ 1 และ 6 เข้ากับถ่านไฟฉาย 4 ก้อน ( 1.5 x 4 = 6 volt ) เราก็จะเห็น TPA มันยืด “เท้าไฟฟ้า” ยาวออกมาถีบที่คล้องสายคันเร่งให้ดู และเมื่อสลับขั้วบวกลบของถ่านไฟฉาย TPA มันก็จะหด “เท้าไฟฟ้า” กลับเข้าที่เดิมอย่างน่ารัก นี่พูดถึงว่าถ้ามันยังใช้การได้ดีอยู่นะครับ ซึ่งเราจะใช้วิธีนี้ทดสอบสุขภาพการทำงานของมันก็ได้ โดยการยืดหดจะต้องเป็นไปอย่างราบเรียบ ไม่มีอาการสะดุดหรือติดขัด ขณะที่มันทำงานจะได้ยินเสียงมอเตอร์เบาๆ สม่ำเสมอ เมื่อมันยืดหรือหดสุด เสียงมอเตอร์จะต้องหยุดทันที ไม่มีเสียงหมุนฟรี หรือเสียงแคร๊ก ๆๆๆ ต่อเนื่องกันยาว ๆ TPA จะแยกออกได้เป็นสองชิ้นหน้าหลัง ชิ้นด้านหน้าคือส่วนที่เป็นปลั๊กขั้วสัญญาณ ชิ้นด้านหลังคือส่วนที่เป็นกลไกเท้าไฟฟ้า
ภาพที่ 3 ภาพนี้คุณอนุรัตน์ได้ถอด TPA ออกมาจาก Throttle Body แล้ว และได้แกะ TPA ออกเป็นสองส่วน คือชิ้นหน้ากับชิ้นหลัง ชิ้นหน้าวางหงายอยู่ข้างบน ชิ้นหลังวางหงายอยู่ข้างล่าง โดยชิ้นหน้ามีลักษณะคล้ายฝาครอบ ครอบปิดชิ้นหลัง การยึด TPA ติดกับ Throttle Body จะยึดกับชิ้นหน้าด้วยน็อตหัวจีบ 3 ตัว ( หัว Torx เบอร์ T-25 ) ร้อยทะลุรูที่มีแหวนทองเหลืองประกบอยู่ดังในภาพ เมื่อถอดน็อต 3 ตัวนี้แล้ว TPA ทั้งตัวก็จะหลุดออกมาได้ ส่วนการแกะชิ้นส่วนด้านหลังออกจากด้านหน้า ต้องแกะขายึดพลาสติคโดยรอบให้หักออก 7 ตัว ซึ่งแม้ว่าขาเหล่านี้หักไป ชิ้นส่วนด้านหลังก็ยังสามารถสอดเข้าไปในชิ้นส่วนด้านหน้าได้ 
และเมื่อยึดชิ้นส่วนด้านหน้าอัดแน่นเข้ากับ Throttle Body ก็เท่ากับกดทับชิ้นส่วนด้านหลังไม่ให้หลุดหายไปไหนอีกชั้นหนึ่ง ระหว่างชิ้นส่วนด้านหน้าและหลัง จะมีปะเก็นยางนิ่มๆ ให้แกะออกมาเก็บไว้และอย่าทำขาด
ภาพที่ 4 ดูชิ้นส่วนด้านหลังกันใกล้ๆ จะเห็นมอเตอร์ตัวใหญ่ สอดแกนเข้าไปในเพลาเฟืองตัวหนอน จากนั้นแล้วเพลาเฟืองตัวหนอนจึงจะขับเฟืองพลาสติคตัวใหญ่ ที่แกนของเฟืองพลาสติคตัวใหญ่จะเป็นกลไกการยืดหดของ “เท้าไฟฟ้า” ซึ่งโผล่ปลายเท้าออกไปด้านหลังของชิ้นส่วนนี้ เมื่อเฟืองหมุนในทิศทางหนึ่ง “เท้าไฟฟ้า” จะยืด แต่เมื่อหมุนในอีกทิศทางหนึ่ง “เท้าไฟฟ้า” จะหด
ภาพที่ 5 นี่คือชิ้นส่วนด้านหน้า ที่มีลักษณะคล้ายฝาครอบปิดชิ้นส่วนด้านหลัง จะเห็นว่าสายสัญญาณที่มาจากปลั๊ก เดินผ่านวงจรไฟฟ้าเล็กๆ ก่อน แล้วจึงจะส่งกระแสไฟฟ้าเข้ามอเตอร์ ผมเดาเอาว่าวงจรที่ว่านี้ มีไว้ใช้ควบคุมใน
กรณีที่เมื่อ “เท้าไฟฟ้า” ได้ยืดหรือหดจนสุดระยะของกลไกแล้ว วงจรจะคอยตัดการทำงานของมอเตอร์ เพื่อไม่ให้มอเตอร์ฝืนทำงานจนขดลวดไหม้ หรือฝืนจนกลไกพลาสติคแตกหัก และมันน่าจะคอยทำหน้าที่ “สลับขั้วไฟฟ้า” เพื่อควบคุมทิศทางการหมุนของมอเตอร์ ให้เป็นไปตามอำเภอใจของ ECU
ภาพที่ 6 เราสามารถงัดเอามอเตอร์ออกมาจากชิ้นส่วนด้านหลังได้ ก่อนงัดออกมาให้จำตำแหน่งและทิศทางการวางให้แม่นๆ เวลาใส่กลับจะได้ไม่ผิดพลาด เนื่องจากมอเตอร์มีรูปร่างกลมๆ เหมือนกันทุกด้าน เมื่อมอเตอร์หลุดออกมา เพลาเฟืองตัวหนอนจะหลุดตามออกมาด้วย และดึงออกจากแกนของมอเตอร์ได้ง่ายๆ อย่างที่เห็นในภาพ
ภาพที่ 7 ตรงลูกศรชี้ จะเป็นแกนหมุนของมอเตอร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถูกผ่าให้เป็นรูปครึ่งวงกลมเพื่อที่จะสอดเข้าไปในเพลาเฟืองตัวหนอน และที่ด้านท้ายของเพลาเฟืองตัวหนอน ก็จะทำเป็นรู รูปร่างเท่ากันพอดี สำหรับเป็นที่ยึดเกาะให้แน่นหนามั่นคง เมื่อแกนมอเตอร์หมุนไม่ว่าจะในทิศทางใด เพลาเฟืองตัวหนอนก็จะได้หมุนตามไปด้วยอย่างถูกต้อง โดยไม่มีอาการลื่นไถล หรือมอเตอร์หมุนฟรีแต่เพลาเฟืองตัวหนอนไม่ยอมหมุน
ภาพที่ 8 นี่คือรูที่ด้านท้ายของเพลาเฟืองตัวหนอน ที่แกนมอเตอร์รูปครึ่งวงกลมจะต้องสอดเข้าไป เราพบว่าใน TPA ที่ชำรุด พลาสติคที่ขึ้นรูปเป็นรูครึ่งวงกลมภายในเพลา มีสภาพกรอบแตกหัก เสียรูปทรงให้เป็นที่ยึดเกาะของแกนมอเตอร์ อันอาจจะเนื่องมาจากมันถูก อบอยู่ในที่อุณหภูมิสูงนานๆ หรือพลาสติคหมดอายุ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งส่งผลให้เมื่อแกนมอเตอร์หมุน เพลาเฟืองพลาสติคเกิดดื้อด้านไม่ยอมหมุนตาม แต่ปล่อยให้แกนมอเตอร์หมุนฟรีอยู่ภายในรู อันเป็นที่มาของอาการสะดุดติดขัดในการยืดหดของเท้าไฟฟ้า และเป็นที่มาของเสียงหมุนฟรี และเสียง แคร๊กกกกก …. ต่อเนื่องกันยาวๆ ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากการสั่นกระทบกันระหว่างเฟืองตัวหนอน กับ
เฟืองวงกลมตัวใหญ่ของชุดเท้าไฟฟ้า แต่เพลาไม่มีแรงบิดพอที่จะขับเฟืองวงกลมให้หมุน เนื่องจากแกนมอเตอร์ไม่มีที่ยึดเกาะที่แน่นหนาอย่างเพียงพอ ภายในเพลาเฟืองตัวหนอน

เมื่อได้ผ่าจนเห็นตับไตไส้พุงของ TPA แล้ว เราก็จะมาซ่อมปลุกผีให้มันฟื้นคืนชีพกลับมารับใช้ ECU กันอีกครั้ง โดยมีแนวทางคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

1. ทำความสะอาดภายในมอเตอร์ เมื่อสังเกตดูมอเตอร์อย่างใกล้ชิด พบว่าเป็นมอเตอร์ยี่ห้อ Johnson ( ซึ่งผมเป็นลูกค้าเก่าของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้ ตั้งแต่สมัยที่ยังต้องใช้แป้งโรยสะดือ ) จะมีเศษฝุ่นผงถ่านดำๆ หลุดออกมาทางช่องระบายความร้อนด้านล่าง ทำให้เราเดากันว่าภายในคงใช้ระบบ "แปรงถ่าน" คล้ายๆ กับในไดชาร์ท ที่ก้นมอเตอร์จะมีรูกลมเล็กๆ สองรู เฉพาะตัวมอเตอร์เปล่าๆ นี้ สามารถต่อไฟฟ้าจากถ่านไฟฉาย 4 ก้อน เข้าไปทดลองการหมุนดูได้ ซึ่งจะมีเสียงดังพอสมควร ในการทดลองซ่อม TPA ครั้งแรกที่บ้านคุณหนึ่ง เราได้ตัดสินใจฉีด WD-40 ซึ่งเป็นสเปรย์สารพัดนึก เข้าไปทางรูที่ก้นมอเตอร์ แล้วจึงต่อไฟให้มอเตอร์หมุน ปราก ฎผลว่ามันได้ปั่นเอาเศษฝุ่นผงถ่านที่ละลายปนกับน้ำมันของ WD-40 ไหลกระเซ็นออกมาเป็นจ้ำๆ ด้วยปริมาณที่เยอะพอสมควร เมื่อทำซ้ำหลายๆ ครั้งจนคาดว่าภายในสะอาดขึ้นแล้ว มอเตอร์ก็จะหมุนได้อย่างเรียบลื่นขึ้น และมีเสียงเงียบลง ในการซ่อมครั้งหลังๆ เช่นครั้งล่าสุดของผมเอง ได้ทดลองใช้เสปรย์ล้างหน้าสัมผัส Contact Cleaner ฉีดแทน ซึ่งก็ได้ผลคล้ายๆ กัน

2. ทำความสะอาดฟันเฟืองพลาสติค บริเวณส่วนต่างๆ ที่เฟืองพลาสติคขบและเสียดสีกัน จะมีขี้ผึ้งเหลว ทาเคลือบเอาไว้คล้ายสารหล่อลื่น แต่ในสภาพที่เราแกะออกมาดู ขี้ผึ้งเหล่านั้นมันได้แห้งแข็งกลายเป็นคราบไปหมดแล้ว เราสามารถฉีดล้างทำความสะอาดได้ด้วยสเปรย์ WD-40 หรือด้วยสเปรย์ล้างคราบไขมัน Degreaser ซึ่งบางคนเรียกสเปรย์ชนิดหลังนี้ว่า ว่าสเปรย์ล้างหัว VDO ( ไม่รู้ว่าชอบดู VDO ประเภทไหน หัวมันจึงได้สกปรกถึงขนาดที่ต้องมีสเปรย์เอาไว้คอยฉีดล้าง ) เมื่อฉีดแล้วก็ใช้แปรงสีฟันเก่าๆ เอามา "แปรงฟันเฟือง" ให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง

3. ซ่อมรูที่แตกหักภายในเพลาตัวหนอน ขั้นตอนนี้เราจะใช้กาว Epoxy ชนิดดินน้ำมัน ซึ่งมีสองส่วนคือ Resin กับ Hardener บี้ออกมาอย่างละประมาณเมล็ดถั่วเขียว ( ใช้แค่นี้เองจริงๆ แต่เวลาไปซื้อ Pack ละร้อยกว่าบาท จะได้เป็น 2 แท่งอ้วนๆ ยาวแท่งละเกือบคืบ ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้ซ่อม TPA ได้อีกประมาณ 3,000 ครั้ง ) เอาส่วนผสมของกาวมาบี้ผสมกันจนเป็นเนื้อเดียว แล้วปั้นเป็นแท่งยาวๆ เล็กๆ คล้ายไส้เดือนดิน แล้วยัดเข้าไปในรูของแกนเพลา อัดกระทุ้งให้แน่นด้วยปลายของแกนมอเตอร์นั่นแหละ จนแน่ใจว่ากาวมันอัดเต็มแน่นรูกลวงภายในอย่างดีแล้ว ก็เสียบประกอบให้เข้ากับแกนมอเตอร์โดยขยับให้ลงล็อคของเดิม เสียบเข้าไปให้ตรงแนวจนสุดระยะ หากมีเศษกาวทะลักออกมาบ้างก็หาอะไรแหลมๆ เขี่ยออกให้เรียบร้อย จากนั้นวางเอาไว้ให้ไกลมือเด็ก อย่าไปแตะต้องหรือหมุนเล่น และทิ้งให้กาวแข็งตัวประมาณ 24 ชม. ซึ่งเมื่อมันแข็งตัวดีแล้ว ส่วนผสมของกาว Epoxy จะกลายสภาพเป็นพลาสติคเนื้อแน่นแข็ง ทนต่อความร้อนและสารเคมี ยึดติดถาวรอยู่ระหว่างแกนเพลาและแกนมอเตอร์ ดังนั้นการเสียบประกอบแกนเพลา จะต้องแน่ใจว่าทำได้อย่างถูกต้องและตรงแนว หากผิดพลาดไปและหาก Epoxy แข็งตัวแล้ว จะแก้ไขลำบากครับ

4. ประกอบชิ้นส่วนและทาสารหล่อลื่น เมื่อกาว Epoxy ได้แข็งตัวดีแล้ว เราก็ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้ากับ TPA ชิ้นด้านหลังให้เหมือนเดิม ซึ่งถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดี เราก็สามารถทดลองการทำงานโดยต่อไฟฟ้าจากถ่านไฟฉาย 4 ก้อน เข้าที่ขั้วของมอเตอร์ เพื่อให้มันหมุนขับเฟืองวงกลมตัวใหญ่ให้เท้าไฟฟ้ายืดหดให้ดูได้ หากมันทำงานได้ดีทั้งสองทิศทาง ( อาจจะมีตะกุกตะกักบ้างเล็กน้อย เนื่องจากเรายังไม่ได้ปิดชิ้นส่วน TPA ด้านหน้า ที่ทำหน้าที่เป็นฝาครอบ และมีขาส่วนหนึ่งยื่นออกมาเป็นแกนประคองเฟืองวงกลมให้หมุนได้ศูนย์กลางอย่างสมบูรณ์ ) ก่อนใส่ปะเก็นและปิดชิ้นส่วนฝาครอบด้านหน้า ให้หาสารหล่อลื่นมาชะโลมฟันเฟือง และกลไกยืดหดของเท้าไฟฟ้า คุณหนึ่งได้ทดลองใช้วาสลีน คุณอนุรัตน์ใช้จารบี ส่วนของผมเองใช้น้ำมันหล่อลื่นปืน สรุปว่าจะใช้อะไรก็ได้ใกล้มือซึ่งเหลว หล่อลื่นพลาสติคได้ และมีท่าทางว่าจะไม่แห้งง่าย เมื่อต้องไปอยู่ในที่ร้อนนานๆ ส่วนถ้าคุณจะลองใช้น้ำมันเจียวหอมที่แถมมาในซองบะหมี่มาม่าหมูสับ ก็แนะนำให้ตักเศษกระเทียมเจียวออกให้หมดก่อนนะครับ ... อิ อิ ...
เมื่อเสร็จพิธีชะโลมน้ำมันหล่อลื่น เราก็ใส่ปะเก็นยางและปิดฝาครอบด้านหน้าที่มีขั้วไฟฟ้า ซึ่งมันจะฟิตพอดี ๆ ไม่แน่นไม่หลวม ถ้ายังไม่ได้ประกอบ TPA เข้ากับ Throttle Body ก็ระวังอย่าทำ TPA ตกหล่น เพราะเราได้หักขายึดพลาสติคระหว่างชิ้นส่วนด้านหน้ากับด้านหลังทิ้งออกไปหมดแล้ว ( ถ้าไม่หักขายึดที่ว่า เราจะแกะแยกออกจากกันไม่ได้ ) แต่ถ้าประกอบ TPA เข้ากับ Throttle Body แล้วก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะชิ้นส่วนด้านหน้ามันจะอัดชิ้นส่วนด้านหลังให้ติดแน่นด้วยตัวของมันเอง

ก่อนนำไปใช้งาน ให้ทดลองต่อไฟฟ้าจากถ่านไฟฉาย 4 ก้อน เพื่อทดสอบที่ขั้วที่ 1 และขั้วที่ 6 ซึ่งถ้าโชคเป็นของคุณ เท้าไฟฟ้าก็จะทำงานได้อย่างราบเรียบ นุ่มนวล สั่งยืดเป็นยืด หดเป็นหด ปราศจากอาการตะกุกตะกัก ไม่มีเสียงมอเตอร์หมุนฟรี ไม่มีเสียงฟันเฟืองสั่นกระทบกันดัง แคร๊กๆๆ เหมือนตอนก่อนซ่อม ก็เป็นอันเสร็จพิธี และเราก็จะได้อะไหล่สำรองเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินระหว่างเดินทางไกลได้อย่างสบายใจ ว่าที่จริงก็น่าเห็นใจ TPA อยู่เหมือนกันนะครับ เพราะมันเป็นอุปกรณ์กลไกทางไฟฟ้าที่ต้องทำงานหนักอยู่ในห้องเครื่องยนต์ที่ร้อนจัด ต้อง ยืดๆ หดๆ อยู่ตลอดเวลาที่เราติดเครื่องยนต์ ดังนั้นเมื่อถึงคราวมันก็คงต้องสิ้นอายุขัยกันบ้าง แต่สำหรับบางคนที่ใช้รถอยู่แต่ในเมือง ไม่ยี่หระถ้าหากจะต้องจอดข้างทางเมื่อ TPA ขาดใจในคราวต่อไป คุณก็สามารถใช้ TPA ที่ซ่อมด้วยวิธีการข้างต้น ( VW-Thai Modified TPA ) ติดใช้งานถาวรไปเลยก็ได้ เพียงแต่เราเพิ่งจะทดลองกันไปไม่กี่คัน และยังไม่มีข้อมูลว่าหลังจากซ่อมด้วยวิธีนี้แล้วมันจะใช้งานไปได้อีกสักกี่กิโล หรือมันอาจจะไม่เสียอีกเลยตลอดชีวิตก็เป็นได้ จึงเป็นความเสี่ยงของคุณเองถ้าหากคิดจะซ่อมเอาไว้ใช้งานเป็นการถาวรโดยที่ไม่ซื้ออะไหล่ใหม่


ขอให้โชคดีนะครับ