Made with Tripod.com

เปลี่ยนปั๊มพ์น้ำให้กับเครื่อง 1.8 ของ Golf/Vento

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฎ์ jittik@mozart.inet.co.th

เครื่อง 1.8 ของ กอล์ฟ / เวนโต้ ระบายความร้อนด้วยน้ำผสมกับน้ำยาหล่อเย็น G11 สีฟ้า หรือ G12 สีชมพู ในอัตราส่วน น้ำต่อน้ำยาหล่อเย็น = 60 : 40 โดยประมาณ ซึ่งส่วนผสมนี้ ( ต่อไปจะเรียกว่าน้ำยาเฉย ๆ ) จะถูกดูดให้ไหลเวียนไประบายความร้อนออกจากส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ แล้วนำมา “ผึ่งลม” จากพัดลมไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ดูดลมผ่านรังผึ้งหม้อน้ำที่อยู่ด้านหน้ารถเข้ามา เพื่อทำให้น้ำยาเย็นลง แล้วจึงดูดกลับไปใช้ใหม่อีกหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นระบบนี้จึงเป็นระบบปิด หากไม่มีการรั่วซึมระดับน้ำยาในหม้อพักจะไม่พร่องลดลงจากที่เคยเติมเอาไว้

การดูดน้ำยาให้ไหลเวียนออกจากเครื่องยนต์ เพื่อไปผึ่งลมที่หม้อน้ำโดยมีบางส่วนจะแวะไหลเข้าไปสร้างไออุ่น ให้กับ Heater ของระบบปรับอากาศเสียก่อนนั้น จะเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ปั๊มน้ำ” ซึ่งมีลักษณะเป็นใบพัด แกนใบพัดต่อเข้ากับจานหมุน ซึ่งจะถูกฉุดให้หมุนด้วยสายพานเส้นเล็กๆ ที่คล้องไว้กับจานหมุนของเครื่องยนต์ ดังนั้นตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน ใบพัดของปั๊มน้ำ ก็จะหมุนตามไปด้วย เพื่อสร้างแรงดูดให้กับน้ำยาตามที่ได้เล่ามาแล้ว
แกนของใบพัดซึ่งต่อเข้ากับจานหมุนภายนอกปั๊มนั้น จะสอดผ่านซีลยางกันน้ำยารั่ว ซีลตัวนี้ทำเอาไว้ฟิตพอดีเป็นพิเศษ คือจะปล่อยให้แกนใบพัดหมุนตามสายพานได้ แต่จะไม่ปล่อยให้น้ำยารั่วออกมาภายนอกปั๊ม การเสียดสีกันระหว่างซีลยางกับแกนใบพัดขณะที่หมุนนี้ จะมีการสึกหรอเกิดขึ้นสะสมกันทีละเล็กทีละน้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนเมื่อสึกหรอถึงจุดหนึ่งซีลมันก็กันน้ำยาเอาไว้ไม่อยู่ทำให้เกิดรั่วซึมออกมาภายนอก ซึ่งจะส่งผลให้น้ำยาในระบบค่อยๆ หายไป ซึ่งถ้ายังขืนทำไม่รู้ไม่ชี้ ก็จะส่งผลให้เครื่องยนต์ Overheat ได้ ระยะเวลาที่ซีลปั๊มน้ำจะเริ่มรั่วนี้น่าจะแตกต่างกันตามลักษณะการขับรถ หากใช้รอบเครื่องสูงบ่อยๆ ก็น่าจะรั่วเร็วกว่าพวกที่ขับต้วมเตี้ยม ๆ อย่างไรก็ตามในรถของผมเอง ได้ตรวจพบรอยรั่วที่การใช้งานประมาณ 120,000 กม. ในระยะเวลาประมาณ 5 ปี

เมื่อพบว่าน้ำยาเริ่มรั่วออกมาจากซีลปั๊มน้ำ ก็จะพบว่าระดับน้ำยาในหม้อพักพร่องลงไปเรื่อยๆ ในระยะแรกอาจแก้ขัดได้ด้วยการเติมน้ำผสมเข้าไปให้อยู่ในระดับเดิม แต่เมื่อขับไปอีกสักพักระดับน้ำยาก็จะลดหายลงไปอีกต้องมาเติมเพิ่มอยู่เรื่อยๆ บ่อยครั้งเข้าพอรำคาญจนได้ที่ ก็จะเป็นฤกษ์เหมาะสำหรับการเปลี่ยนปั๊มน้ำ หรืออีกอาการหนึ่งที่ควรจะเปลี่ยนปั๊มน้ำก็คือ มีเสียงดังขณะใบพัดหมุน ซึ่งเกิดจากการสึกหรอของลูกปืนแกนใบพัด อันเนื่องจากทำงานมานาน กรณีนี้เกิดขึ้นกับรถของคุณมนัส ที่การใช้งานประมาณ 120,000 กม. เช่นกัน

ปั๊มน้ำประกอบด้วย 2 ชิ้นส่วนใหญ่ คือด้านหน้าและด้านหลัง นำมาประกบกันโดยมีปะเก็นกั้นกลาง แล้วยึดด้วยสกรูว์เบอร์ 10 จำนวน 9 ตัว ชิ้นส่วนด้านหลัง จะเป็นโครงสร้างหลักที่ยึดติดกับตัวเครื่องยนต์ มีลักษณะเหมือนกระปุกน้ำ ด้านข้างเป็นปลายท่อโลหะให้น้ำยาไหลเข้าตรง ๆ 2 ท่อ สวมกับท่อยางซึ่งต่อมาจาก Heater และหม้อพัก ด้านล่างเป็นท่อน้ำยาไหลเข้า 1 ท่อ ซึ่งเป็นข้องอพลาสติค ภายในข้องอจะมี เทอร์โมสตัท ( วาล์วน้ำ ) ก่อนสวมกับท่อยางที่ต่อมาจากหม้อน้ำด้านหน้ารถ ตำแหน่งที่สวมท่อยางทั้ง 3 จุด จะรัดเอาไว้ด้วยแหวนรัดสปริง ชิ้นส่วนด้านหน้าคืออะไหล่ปั๊มน้ำที่ต้องเปลี่ยน มีลักษณะเป็นฝาปิดและมีชุดใบพัดพร้อมลูกปืน ซีลแกนใบพัด และแป้นยึดจานหมุนด้านนอก อะไหล่ชุดนี้จะมาพร้อมปะเก็น ราคาทั้งชุด 1,200 บาท

การเปลี่ยนปั๊มน้ำค่อนข้างจะมีหลายขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. ถอดสายขั้วลบของแบตเตอรี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟช็อต
  2. ปลดสายพานเส้นเล็กที่คล้องจานหมุนของปั๊มน้ำ
  3. ปลดสายพานรวม ที่คล้อง อัลเทอเนเตอร์ ( ไดชาร์ท ) และคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ
  4. ปลดชุดสายไฟออกจากอัลเทอเนเตอร์ และถอดตัวอัลเทอเนเตอร์ออกมาจากขายึด ซึ่งร้อยเอาไว้ด้วยสกรูว์เบอร์ 13 จำนวน 2 ตัว จุดที่ตัวอัลเทอเนเตอร์สอดเข้าไปในขายึด จะทำมาค่อนข้างฟิต ต้องโยกให้หลุดออกมาด้วยความแรงพอสมควร เมื่ออัลเทอเนเตอร์หลุดออกมาได้ ก็อุ้มเอามาวางไว้นอกตัวรถ
  5. ถอดคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศออกมาจากขายึดโดยที่ไม่ต้องถอดสายน้ำยาแอร์ โดยปล่อยให้คาอยู่อย่างนั้น ตัวคอมเพรสเซอร์ร้อยเอาไว้กับขายึดด้วยน็อตและสกรูว์เบอร์ 14 จำนวน 2 ชุด ในน็อตและสกรูว์ชุดนี้จะมีแหวนรองหัวน็อต และแหวนสปริงกันคลายอยู่ด้วย ให้จำตำแหน่งแหวนต่างๆ เอาไว้ก่อนถอด เมื่อคอมเพรสเซอร์หลุดออกมาจากขายึด ให้วางเอาไว้แถวๆ นั้น
  6. ถอดขายึดอัลเทอเนเตอร์และขายึดคอมเพรสเซอร์ซึ่งหล่อเป็นชิ้นเดียวกัน โดยมีชุดรอกสปริงปรับความตึงสายพานรวมติดมาด้วย ให้หลุดออกมาจากเครื่องยนต์ ซึ่งยึดเอาไว้ด้วยน็อตเบอร์ 13 จำนวน 4 ตัว ขั้นตอนนี้ต้องใช้ประแจบล็อค ที่มีลูก บล็อคเบอร์ 13 แบบยาว ( deep socket ) เนื่องจากน็อต 3 ตัวจมอยู่ในเบ้าลึก และสวมเข้ากับแกนสตัดที่ยาวเลยหัวน็อตออกมามาก
  7. ต่อเมื่อขายึดอัลเทอเนเตอร์และขายึดคอมเพรสเซอร์หลุดออกมาแล้ว จึงจะสามารถมองเห็นตัวปั๊มน้ำได้อย่างชัดเจน เพราะขายึดมันบังตัวปั๊มน้ำเอาไว้เกือบทั้งหมด คราวนี้ก็จะถึงขั้นตอนเลอะเทอะ ให้หากาละมังมารองน้ำยาที่จะต้องถ่ายทิ้งประมาณ 5 ลิตร โดยวางกาละมังไว้ใต้ปลายท่อทั้งสามของปั๊มน้ำ แล้วปลดท่อยางที่สวมกับปลายท่อบนตัวปั๊มที่เป็นกระปุกด้านหลังออกทีละท่อ ด้วยการใช้คีมหนีบแหวนรัดสปริงให้คลายตัวอ้าออก ขยับแหวนรัดเลื่อนออกให้พ้นปลายท่อ แล้วค่อยๆ ขยับให้ท่อยางหลุดออกมาจากปั๊ม ซึ่งน้ำยาก็จะพุ่งออกมาเลอะเทอะจนหมดทั้งระบบ รอจนแน่ใจว่า น้ำยาได้ไหลออกมาจนหมดเกลี้ยงแล้วจึงค่อยดำเนินการขั้นต่อไป สำหรับน้ำยาเก่าที่ถ่ายออกมาจะเป็นสารมีพิษ การเอาไปเททิ้งควรพิจารณาไม่ให้เป็นอันตรายต่อเพื่อนบ้านและสัตว์เลี้ยง
  8. ถอดตัวปั๊มออกจากเครื่องยนต์ ซึ่งยึดเอาไว้ด้วยสตัดเบอร์ 13 จำนวน 4 ตัว ใน Service Manual ของ Bentley แนะนำให้เปลี่ยนสตัดชุดนี้ใหม่ทั้งหมด เมื่อจะติดตั้งเข้าไปใหม่ แต่ผมไม่รู้จะไปหาซื้อ สตัดขนาดที่พอดีกันนี้ได้อย่างไร ก็เลยต้องใช้ของเดิมนี่แหละ เมื่ออุ้มปั๊มน้ำซึ่งจะมีจานหมุนติดมาด้วย เอาออกมาวางไว้ภายนอกตัวรถได้แล้ว ก็ให้ไปสังเกตุจุดที่ปั๊มน้ำประกบเข้ากับเครื่องยนต์ ซึ่งจะมีแหวนยาง O-Ring อยู่หนึ่งตัว เส้นผ่าศูนย์กลางในประมาณ 50 มม. ความอ้วนประมาณ 4 มม. ( วัดคร่าวๆ ด้วยไม้บรรทัด ) ให้แคะแหวนยางอันเก่าออกมาทิ้ง ทำความสะอาดหน้าแปลนและเปลี่ยนแหวนยางขนาดเดียวกันตัวใหม่ แหวนยางอันนี้ไม่ได้มากับชุดอะไหล่ปั๊มน้ำ ต้องไปหาซื้อเอาเอง และถ้าหากเลือกได้ให้ใช้แหวนยาง O- Ring ชนิดทนความร้อนก็จะเป็นการดี
  9. กลับมาที่ตัวปั๊มน้ำ ซึ่งได้ถอดออกมาวางไว้นอกรถแล้ว ให้ถอดชุดฝาปิดด้านหน้าออกมาจากชุดกระปุกด้านหลัง และแคะปะเก็นเดิมทิ้งไป จากนั้นก็ถอดจานหมุนออกจากแป้นยึดจานหมุนในชุดฝาปิดด้านหน้า ซึ่งยึดไว้ด้วยสกรูว์หกเหลี่ยมแบบเอลเลน จำนวน 3 ตัว ขั้นตอนนี้ค่อนข้างยากเพราะสกรูว์เดิมมันยึดเอาไว้แน่นมาก ผมต้องใช้ผู้ช่วยกิติมศักดิ์ ซึ่งเป็นยามรูปร่างล่ำสันมาช่วยกันจับและขย่มมันออกมาจนสำเร็จ จากนั้นก็เอาจานหมุนและสกรูว์ไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วเอาไปประกอบเข้ากับชุดฝาปิดอะไหล่ชุดใหม่ซึ่งซื้อมาพร้อมปะเก็น ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับชุดฝาปิดปั๊มน้ำด้านหน้า
  10. สำหรับชุดกระปุกปั๊มน้ำด้านหลัง ให้ล้างทำความสะอาดและสังเกตุท่อซึ่งเป็นข้องอที่ส่วนล่างของกระปุก ข้องอนี้เป็นพลาสติคยึดกับก้นกระปุกด้วยสกรูว์เบอร์ 10 จำนวน 2 ตัว ซึ่งถ้าหากถอดออกมาแล้ว ภายในจะเป็นที่ติดตั้ง เทอร์โมสตัท ( วาล์วน้ำ ) ราคาอะไหล่ใหม่ประมาณ 450 บาท ถ้าต้องการเปลี่ยนก็ให้รื้อออกมา เมื่อถอดเทอร์โมสตัทของเก่าออกจะมี O-Ring ติดออกมาด้วย ให้แคะทิ้งไปและในชุดอะไหล่เทอร์โมสตัทใหม่ จะแถม O-Ring ตัวนี้มาให้ด้วย ซึ่งเป็นขนาดเดียวกันกับตัวที่ใช้ระหว่างจุดที่ปั๊มน้ำประกบเข้ากับเครื่องยนต์ ให้ล้างให้สะอาดเปลี่ยน O-Ring และประกอบอะไหล่ใหม่กลับเข้าไป ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับชุดกระปุกปั๊มน้ำด้านหลัง
  11. ประกอบชุดฝาปิดปั๊มน้ำด้านหน้าและชุดกระปุกปั๊มน้ำด้านหลังเข้าด้วยกัน อย่าลืมใช้ปะเก็นใหม่ที่แถมมาพร้อมอะไหล่ ตอนขันน็อตถ้ามีประแจทอร์คตั้งค่า 10 นิวตั้น/เมตร ได้เท่ากันทุกตัวก็จะดีมาก ถ้าไม่มีก็ต้องขนาด “ตึงมือเด็ก” ไม่แน่นไม่หลวมกะให้เท่าๆ กันทุกตัว
  12. จากนั้นก็ประกอบปั๊มน้ำกลับเข้าไปที่เครื่องยนต์ ที่จุดต่อของปั๊มน้ำเข้ากับเครื่องยนต์ซึ่งเราได้เปลี่ยน O-Ring ใหม่นั้น ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า O-Ring มันอยู่ในตำแหน่งถูกที่ถูกทาง ก่อนที่จะขันสกรูว์ยึดเข้าไปให้แน่นหนา เสร็จแล้วจึงสวมท่อยางทั้งสาม และหนีบแหวนรัดสปริง โดยจัดให้กลับมารัดปลายท่อ ที่ตำแหน่งเดิม
  13. ประกอบขายึด คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ และอัลเทอเนเตอร์ รวมทั้งสายไฟต่างๆ กลับเข้าไปที่เดิมให้แน่นหนา แล้วจึงใส่สายพานรวม และสายพานเส้นเล็กตามลำดับ เมื่อตรวจสอบทุกอย่างว่าฝรั่งไม่ได้ทำชิ้นส่วนใดๆ เกินแล้ว จึงต่อขั้วลบของแบตเตอรี่เป็นขั้นสุดท้าย
    เตรียมน้ำยาใหม่ อันประกอบด้วย กับน้ำยาหล่อเย็น G11 สีฟ้า หรือ G12 สีชมพู แล้วแต่ว่าของเดิมใช้แบบไหน ความจุขวดละ 1.5 ลิตร ราคาต่อขวดประมาณ 250 - 300 บาท จำนวน 2 ขวด ผสมกับน้ำกลั่นในกาละมังสะอาดให้ได้ปริมาณรวม 5 ลิตร ซึ่งจะเป็นความเข้มข้นในอัตราส่วน น้ำต่อน้ำยาหล่อเย็น = 60 : 40 พอดี อันที่จริงขั้นตอนนี้จะเทน้ำยาและน้ำกลั่นเข้าไปผสมกันในเครื่องยนต์ก็ได้ แต่เพื่อป้องกันการผิดพลาด การตวงผสมจากภายนอกและค่อยๆ กรอกลงไปจะวัดปริมาณได้แม่นยำกว่า การกรอกน้ำยาเข้าในระบบ ให้กรอกทางหม้อพักน้ำยา โดยค่อยๆ รินช้าๆ ให้อากาศภายในไหลออกมาทัน มิฉะนั้นน้ำยาจะเอ่อหม้อพัก กรอกไม่ลง และหากเกิดอาการนี้ขึ้น ให้บีบท่อยางเส้นบนที่ต่อจากเครื่องยนต์เข้าหาหม้อน้ำด้านหน้ารถเป็นการไล่ลม เมื่อบีบก็จะมีฟองอากาศปุดๆ ออกมาทางหม้อพัก และน้ำยาที่เอ่อก็จะลดระดับลง โดยไหลเข้าไปแทนที่อากาศ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกรอกน้ำยาเข้าไปได้อย่างน้อย 4 ลิตร แล้วจึงติดเครื่องยนต์โดยเปิดฝาหม้อพักเอาไว้ อุ่นเครื่องอยู่กับที่จนถึงอุณหภูมิทำงานที่ 90 องศา ระหว่างนั้นก็ให้สังเกตุระดับน้ำยาในหม้อพัก ซึ่งอาจจะมีฟองอากาศปุดออกมาเรื่อยๆ หากระดับน้ำยาลดลงต่ำกว่า MIN ก็เติมเพิ่มเข้าไปจนกระทั่งระดับค่อนข้างคงที่ แล้วจึงปิดฝาหม้อพัก นำรถออกไปวิ่งทดสอบสัก 20 นาที โดยหมั่นสังเกตุเกจ์วัดความร้อนว่า Overheat หรือไม่ และพัดลมไฟฟ้าจังหวะ 2 ทำงานเป็นปกติหรือไม่ เมื่อนำรถกลับเข้ามาจอด ก็ให้ตรวจสอบระดับน้ำยาอีกครั้งและเติมเพิ่มหากพร่องลงไป ถ้าหากเติมจนน้ำยาที่ผสมเอาไว้หมดทั้ง 5 ลิตรแล้ว ระดับก็ยังต่ำกว่า MIN อีก ก็สามารถใช้น้ำกลั่นเปล่าๆ เติมผสมลงไปก็ได้ จากนั้นให้ส่องไฟฉายตรวจตามรอยต่อต่างๆ ที่มีการถอดประกอบว่ามีร่องรอยการรั่วซึมหรือไม่ หากทุกอย่างเรียบร้อย ก็เก็บข้าวของและไปอาบน้ำได้เลยครับ


คำบรรยายภาพประกอบเรื่อง

มองจากด้านหน้าเครื่องยนต์ เมื่อถอดเอาอัลเทอร์เนเตอร์ ( ไดชาร์ท ) พร้อมขายึดและสายพานออกไปไว้นอกตัวรถแล้ว ด้านล่างของภาพจะเห็นคอมเพรสเซอร์แอร์ ซึ่งถอดออกจากขายึดแล้ววางเอาไว้เฉยๆ โดยที่ไม่ต้องปลดท่อน้ำยาแอร์ สังเกตุตำแหน่งปลายท่อน้ำซึ่งถูกถอดออกจากชิ้นส่วนด้านหลังของปั๊มน้ำ ที่ตำแหน่งนี้จะมี 2 ท่อ และด้านล่างเป็นข้องอพลาสติก 1 ท่อ
ภาพนี้ได้ถอดเอาตัวปั๊มน้ำออกจากเครื่องยนต์แล้ว ที่จุดประกบกันระหว่างปั๊มน้ำกับเครื่องยนต์จะเห็นคราบสนิมสีน้ำตาล และมีแหวนยาง O-Ring เน่าๆ บี้แบนอยู่ ซึ่งจะต้องแคะออกมาเปลี่ยนอันใหม่ พร้อมกับทำความสะอาดบริเวณนี้ให้เรียบร้อยก่อนประกอบกลับ
นี่คือตัวปั๊มพร้อมกับ Pulley ( จานหมุนให้สายพานฉุด ) ที่ถอดออกมาแล้ว มองจากด้านหลังซึ่งประกบเข้ากับเครื่องยนต์ทางรูกลมๆ ที่มีคราบสนิมสีน้ำตาล ในภาพนี้จะเห็นชัดว่าชิ้นส่วนด้านหลังของปั๊มมีปลายท่อโลหะสำหรับสวมท่อยาง 2 ท่อ และมีข้องอพลาสติคสีดำด้านล่างตัวปั๊ม 1 อัน ซึ่งเป็นที่อยู่ของเทอร์โมสตัท ( วาล์วน้ำ )
ในภาพนี้ได้ถอดแยกชิ้นส่วนตัวปั๊มออกมาวางเรียงกัน ด้านซ้ายคือชิ้นส่วนอะไหล่ใหม่ ซึ่งเป็นฝาปิดพร้อมใบพัด ซึ่งจะมาพร้อมกับปะเก็นสำหรับประกบเข้ากับชิ้นส่วนตัวปั๊มด้านหลัง อย่างที่เรียงให้ดูในภาพ ส่วนด้านล่างที่เป็นข้องอพลาสติคสีดำๆ นั้น ผมได้ถอดออกมาเพื่อเปลี่ยน เทอร์โมสตัท ( วาล์วน้ำ ) อันใหม่ ซึ่งจะมาพร้อมแหวนยาง ส่วนอะไหล่เก่าพร้อมแหวนยางที่เละแล้ว ก็ได้วางเรียงให้ดูถัดออกไปครับ