Made with Tripod.com

ระบบชิพท์ล็อค กับฟิวส์ไฟเบรค

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฎ์ jittik@mozart.inet.co.th


ระบบชิพท์ล็อค คืออะไร ?

ในรถโฟล์คกอล์ฟและเวนโต้ รุ่นที่ใช้เกียร์อัตโนมัติ จะมีระบบชิพท์ล็อคซึ่งเป็นกลไกนิรภัย ที่ใช้สำหรับล็อคคันเกียร์ ไม่ให้ขยับจากตำแหน่ง N หรือ P ไปยังตำแหน่งอื่นๆโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ได้เจตนา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุอันอาจเกิดขึ้นได้ เช่นในกรณีที่รถติดไฟแดงโดยเข้าเกียร์ N เอาไว้ แล้วบังเอิญในรถมีเด็กซนๆ แกมมือบอนขอมีส่วนร่วมใน Fahrvergnuegen ด้วยการแอบขยับคันเกียร์เล่น ในขณะที่ผู้ขับขี่เผลอๆระบบชิพท์ล็อค กับ ฟิวส์ไฟเบรค

กลไกดังกล่าว  มีหลักในการทำงานคล้ายๆ กับระบบห้ามไกในปืนพกออโตเมติครุ่นใหม่ๆ กล่าวคือกระสุนปืนจะลั่นออกมาจริงๆ  ก็ต่อเมื่อผู้ยิงเจตนาเหนี่ยวไกเท่านั้น พ้นจากกรณีนี้แล้วไม่ว่าปืนที่พร้อมยิงจะตกหล่น หรือถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงเพียงใดก็ตาม ระบบห้ามไกก็จะป้องกันไม่ให้กระสุนลั่นออกมาโดยอุบัติเหตุได้ในทุกกรณี

สำหรับกลไกระบบชิพท์ล็อค  ในคันเกียร์อัตโนมัติของรถโฟล์คกอล์ฟและเวนโต้ ทำงานโดยสลักแม่เหล็กไฟฟ้า (หมายเลข 7 ในภาพประกอบ ซึ่งจะรับสัญญาณสั่งการจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเกียร์อัตโนมัติ TCM -Transmission Control Module J-217 ซึ่งติดตั้งอยู่ใต้เบาะที่นั่งหลังด้านซ้าย TCM นี้เป็นคอมพิวเตอร์คนละตัวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์  ECM - EngineControl Module J-220 ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณที่ปัดน้ำฝนกระจกหน้า

TCM ทำหน้าที่ร่วมกับ ECM และ Sensor ที่บริเวณต่างๆ เพื่อควบคุมสภาวะการณ์นิรภัยขั้นพื้นฐาน ดังกรณีต่อไปนี้
  1. ถ้าคันเกียร์ไม่อยู่ในตำแหน่ง N หรือ P จะไม่สามารถติดเครื่องยนต์ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้รถพุ่งเคลื่อนที่โดยไม่เจตนา ด้วยแรงหมุนของมอเตอร์สตาร์ท ถ้าหากปล่อยให้สามารถติดเครื่องยนต์ได้ที่ตำแหน่งเกียร์  D 3 2 1 หรือ R
  2. เมื่อเครื่องยนต์ติดได้แล้ว และคันเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N หรือ P (รถจอดอยู่กับที่ ) และผู้ขับขี่ได้เหยียบเบรคจนสุดระยะ และระบบไฟเบรคสามารถทำงานได้ครบวงจร TCM จึงจะส่งสัญญาณสั่งการ ให้สลักแม่เหล็กไฟฟ้า ปลดตัวจากร่องล็อคในแผ่นยึดคันเกียร์ (หมายเลข 15ในภาพประกอบ) เพื่อให้คันเกียร์เป็นอิสระสามารถขยับได้ และเมื่อใดที่ผู้ขับขี่ถอนเท้าออกจากเบรค โดยที่คันเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N หรือ P สลักแม่เหล็กไฟฟ้า ก็จะขยับตัวเข้าไปล็อคอีกโดยอัตโนมัติ และจะมีเสียง "คลิก" เบาๆ ให้พอได้ยิน ดังมาจากบริเวณคันเกียร์ ในกรณีนี้ ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบการทำงาน ของสลักแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบชิพท์ล็อค ได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง โดยติดเครื่องเข้าเกียร์ N หรือ P แล้วทดลองเหยียบเบรคดูหลายๆ ครั้ง ทุกครั้งจะต้องได้ยินเสียงการทำงานดัง "คลิก" เบาๆ ตามหลังการถอนเท้าออกจากเบรคเสมอ
  3. การล็อคของสลักแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบชิพท์ล็อค นี้  จะส่งผลอีกประการหนึ่งผ่านก้านกระทุ้ง (หมายเลข  4  ในภาพประกอบ)  ที่สอดขึ้นมาตามคันเกียร์ เข้าไปขวางทาง ทำให้ปุ่มกดที่หัวเกียร์ไม่สามารถถูกกดให้จมลงไปได้  โดยมีอาการ  "ปุ่มกดแข็งสู้มือ" จะกดหรือบีบให้หน้าเขียวอย่างไรปุ่มนี้ก็ไม่จม ผู้ขับขี่จะต้องเหยียบเบรคให้สุดระยะ เพื่อปลดกลไกของระบบชิพท์ล็อคเสียก่อน เพื่อให้ก้านกระทุ้งนี้หดหัวพ้นทางไป  จึงจะทำให้  "ปุ่มกดนิ่ม" สามารถกดให้จมเพื่อการขยับคันเกียร์ได้   ในกรณีนี้ผู้ขับขี่สามารถตรวจสอบได้ โดยการค้างคันเกียร์ไว้ที่ตำแหน่ง   N  หรือ  P  แล้วดับเครื่อง   ในขณะที่เครื่องยนต์ดับ ปุ่มกดที่หัวเกียร์จะมีอาการ  "ปุ่มกดนิ่ม"  อยู่ตลอดเวลาแม้ว่าจะไม่เหยียบเบรคก็ตาม ทำให้คันเกียร์อ่อนปวกเปียกเป็นมะเขือเผา  จะขยับเล่นขึ้นลงไปไว้ที่ตำแหน่งใดก็ได้ตามใจฉัน แต่เมื่อใดที่ติดเครื่องยนต์ขึ้นมา  ถ้าไม่ได้เหยียบเบรค ไอ้เจ้าปุ่มกดที่หัวเกียร์นี้  ก็จะมีอาการ "ปุ่มกดแข็งสู้มือ"  ดึ๋งดั๋งขึ้นมาทันที
  4. ในกรณีที่รถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงกว่า  5  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  กำลังขับเพลินๆ  อยู่ดีๆ แล้วก็มีเด็กมือบอนที่นั่งข้างๆ  เอื้อมมือมาผลักคันเกียร์เล่น  จากตำแหน่ง  D  ไปที่ตำแหน่ง  N โดยกระทันหัน  ในกรณีนี้ TCM จะฉลาดพอที่จะไม่สั่งการให้สลักแม่เหล็กไฟฟ้า ในระบบชิพท์ล็อค ทำงาน ในกรณีอันสุดแสนจะพิเศษนี้  กรณีเดียวเท่านั้น  ที่ผู้ขับขี่สามารถขยับคันเกียร์จากตำแหน่ง  N กลับคืนไปที่ตำแหน่ง  D  ได้โดยที่ไม่ต้องเหยียบเบรคจนสุดระยะ (แนะนำให้ค่อยๆ ประคองรถเข้าจอดข้างทาง แล้วตบกระโหลกสั่งสอนให้เด็กหายจากอาการมือบอนเป็นการถาวร)
  5. ฒิพฬ
  6. ในกรณีที่รถกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว  5  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  หรือช้ากว่า แล้วเกิดเหตุการณ์เดียวกันกับในข้อ  4  คือมีเด็กมือบอนมาผลักคันเกียร์เล่น  จากตำแหน่ง  D ไปที่ตำแหน่ง  N  โดยกระทันหัน  TCM จะหน่วงเวลาการทำงานของสลักแม่เหล็กไฟฟ้า ในระบบชิพท์ล็อค โดยเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ มีโอกาสขยับคันเกียร์จากตำแหน่ง  N  กลับคืนไปที่ตำแหน่ง  D  โดยไม่ต้องเหยียบเบรคได้ ภายในช่วงเวลา   1  วินาทีหลังจากเกิดเหตุการณ์  ถ้าผู้ขับขี่ตัดสินใจช้ากว่านั้น สลักแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบชิพท์ล็อค จะทำงาน ส่งผลให้ผู้ขับขี่จะต้องเหยียบเบรคเพื่อหยุดรถ ให้สนิทเสียก่อน  จึงจะสามารถออกตัวใหม่ได้

แล้วฟิวส์ไฟเบรค เกี่ยวอะไรด้วย ?

ฟิวส์ในวงจรไฟเบรค มีขนาด 10 Amp. นอนอมยิ้มอยู่ในช่องเสียบตำแหน่งที่ 20  ในแผงฟิวส์ที่บริเวณใต้คอพวงมาลัยด้านขวามือ ถ้าบังเอิญฟิวส์ตัวนี้ขาด อันเนื่องมาจาก การชำรุดของตัวมันเอง และ/หรือ การลัดวงจรของระบบไฟเบรค ผลเกี่ยวเนื่องที่ตามมา อย่างนึกไม่ถึง ก็คือ TCM จะไม่ได้รับสัญญาณที่ครบวงจรจากระบบไฟเบรค แม้ว่าในความเป็นจริงผู้ขับขี่ได้เหยียบเบรคจนสุดระยะแล้วก็ตาม ดังนั้น TCM จึงไม่ส่งสัญญาณให้สลักแม่เหล็กไฟฟ้า ในระบบชิพท์ล็อค ปลดตัวจากร่องล็อค ทำให้ปุ่มกดที่หัวเกียร์จะมีอาการ "ปุ่มกดแข็งสู้มือตลอดกาล" ทำให้ผู้ขับขี่ไม่สามารถขยับคันเกียร์จาก N หรือ P ไปยังตำแหน่งอื่นๆ  เพื่อการขับเคลื่อนได้ แต่พอลองดับเครื่องยนต์ดู  ปุ่มกดที่หัวเกียร์จะมีอาการ  "ปุ่มกดนิ่ม"จะขยับคันเกียร์รูดเอาไปไว้ที่ตำแหน่งใดก็ได้    แต่เมื่อใดที่ติดเครื่องยนต์ขึ้นมาอีกครั้ง ไอ้เจ้าปุ่มกดที่หัวเกียร์นี้  ก็จะมีอาการ  อาการ  "ปุ่มกดแข็งสู้มือตลอดกาล" เหมือนกับจะแกล้งกันเล่นอย่างนั้น  ... เอากะพ่อซี ... !!!

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ก็เท่ากับว่า ระบบชิพท์ล็อคค้าง คือมันล็อคตัวมันเองนิ่งๆ อยู่อย่างนั้นด้วยความหวังดีจนออกนอกหน้า และไม่มีทางยกเลิกการทำงานของระบบชิพท์ล็อคนี้ได้ ตราบใดที่ระบบไฟเบรคยังไม่สามารถเดินได้ครบวงจรโดยสมบูรณ์ จุดที่ควรตรวจสอบจุดแรกคือ เมื่อเหยียบเบรคแล้ว ไฟเบรคทั้งสองดวงสว่างตามปกติหรือไม่ และฟิวส์ตำแหน่งที่ 20  ยังใช้การได้เป็นปกติหรือไม่  จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่ควรจะมีฟิวส์สำรองขนาด 10 Amp.  ติดรถเอาไว้บ้าง เผื่อโชคไม่เข้าข้างไปเกิดเหตุฟิวส์ไฟเบรคตัวละไม่กี่บาท  แผลงฤทธิ์ขาดกลางทางเปลี่ยวๆ จะได้พอเอาตัวรอดได้  และในกรณีที่เข้าตาจน ฟิวส์ไฟเบรคขาดและไม่มีฟิวส์สำรองจริงๆ ก็สามารถแก้ขัดได้โดยเอาฟิวส์ในตำแหน่งต่อไปนี้   มาสลับเสียบแทนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนที่กลับบ้านได้  แล้วค่อยหาซื้อมาใส่ให้ครบ

ฟิวส์ตำแหน่งที่  3  ขนาด  10 Amp. สำหรับไฟส่องป้ายทะเบียนหลัง
ฟิวส์ตำแหน่งที่  13  ขนาด  10 Amp. สำหรับแตร
ฟิวส์ตำแหน่งที่  22  ขนาด  10 Amp. สำหรับที่จุดบุหรี่และวิทยุ

สำหรับรถ โฟล์ค พัสสาท รุ่นก่อนรุ่นที่จำหน่ายในปัจจุบัน  และรถ เซียท คอร์โดบาที่ดูเหมือนว่าจะใช้เกียร์อัตโนมัติลูกเดียวกันกับโฟล์คกอล์ฟและเวนโต้  นี้ ผู้เขียนไม่มีข้อมูลว่าระบบชิพท์ล็อค  และโปรแกรมใน TCM  ทำงานในลักษณะข้างต้นหรือไม่ ท่านที่ขับอยู่จะทดลองดึงฟิวส์ไฟเบรคเล่นๆ  เพื่อตรวจสอบการทำงาน ได้ความอย่างไรแล้วช่วยเขียนมาเพื่อเผยแพร่ข้อมูล  ก็จะเป็นสาธารณะประโยชน์ครับ

โชคดีครับ

SH-LOCK