Made with Tripod.com

รื้อผ้าหุ้มเบาะออกมาซัก

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฏ์ (jittik@mozart.inet.co.th) และคุณอนุรัตน์ ระยับพันธุ์ (anuratr@hotmail.com)

วัสดุหุ้มเบาะนั่งในรถของเราแต่เดิมตอนออกจาก Show Room จะเป็นผ้า เฉพาะบางคันที่สั่งพิเศษเท่านั้นจึงจะเป็นหนัง ซึ่งเป็นการตัดเย็บที่กรุงเทพโดยใช้หนังวัวภายในประเทศ ไม่ใช่เป็นเบาะหนังที่ตัดเย็บมาจากเยอรมัน ในข้อนี้ผมเคยหลอกถามบริษัทตัวแทนจำหน่าย เขาก็หลอกตอบผมมาว่าเพื่อเป็นการลดภาระภาษีนำเข้า เพราะภาษีเครื่องหนังแพง และหนังวัวเยอรมันบาง เพราะเอาแต่กินเบียร์ จึงกรอบแห้งและขาดง่าย สู้หนังวัวบ้านเราไม่ได้ กินแต่น้ำพริกจึงได้หนังหนา และทน ผมฟังแล้ว ก็ได้แต่นึกในใจว่า ... "แหม.. ช่างรู้ดีอย่างกับเป็นวัวกันทั้งบริษัทอย่างนั้นแหละ"

จะอย่างไรก็แล้วแต่ สรุปแล้วก็คือวัสดุหุ้มเบาะนั่ง ทั้งตอนหน้าและหลัง เป็นสิ่งที่ถอดออกมาได้ คันที่สั่งพิเศษให้เป็นเบาะหนัง เขาก็ถอดผ้าออกเก็บไว้ขายเป็นอะหลั่ย แล้วก็เย็บหนังใส่เข้าให้ ส่วนคันที่เป็นผ้าอยู่แล้ว อย่างของเราๆ ท่านๆ อีกหลายคัน เมื่อใช้ไปนานๆ ก็สมควรที่จะรื้อออกมาทำความสะอาดด้วยการซักและตากแดด ให้เชื้อโรคที่แอบเกาะมาจากเยอรมัน มันรู้ซะมั่งว่าแดดเมืองไทยมันร้อนถึงใจขนาดไหน

กรรมวิธีการถอดค่อนข้างที่จะมีหลายขั้นตอน ดูเผินๆ เหมือนจะยาก แต่พอลงมือจริงๆ ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก สรุปเป็นหลักการรวมๆ เพื่อความเข้าใจ เอาไว้ก่อนที่นี่ ส่วนรายละเอียดก็ดูตามคำบรรยายประกอบภาพที่จะตามมานะครับ

  1. จะต้องถอดเบาะและพนักพิงออกมาวางไว้นอกตัวรถเสียก่อน จึงจะมีที่ว่างให้ทำงานได้โดยสะดวก อย่าพยายามถอดผ้าหุ้มเบาะจากภายในตัวรถ มันจะขลุกขลักเกินเหตุ
  2. ผ้าหุ้มเบาะจะเย็บไว้ในลักษณะคล้ายๆ กับเป็นถุง สำหรับสวมครอบตัวเบาะ เมื่อสวมลงไปแล้ว จะมีเทคนิคการพับเก็บชาย (ในส่วนที่เป็นปากถุง) ด้วยวิธีต่างๆ กัน หลังจากพับเก็บแล้วจะค่อนข้างแนบเนียน ดูไม่ออกว่ามีชายพับซ่อนอยู่
  3. ในส่วนที่เป็นที่รองนั่งและพนักพิงด้านหลัง มีเทคนิคการรั้งผ้าให้ตึง โดยทำเป็นแนวคล้ายๆรอยตะเข็บเย็บรั้งเอาไว้ ให้พิจารณาแนวเหล่านี้ให้ดีก่อนถอด เพราะภายใต้แนวเหล่านี้จะมีเส้นลวดสปริงรั้งห่วงผ้าด้านล่าง ทำให้ผ้าตึงอยู่ตลอดเวลา
  4. หลังจากถอดผ้าหุ้มเบาะออกมาซัก ตากแห้ง จนสะอาดเอี่ยม ประกอบเบาะและพนักพิงกลับเรียบร้อยแล้ว ก่อนนำกลับเข้าไปติดตั้งในตัวรถ ควรจะฉีดสเปรย์ประเภท Scoth Guard เคลือบส่วนที่เป็นผ้าเอาไว้ให้ทั่ว สเปรย์ประเภทนี้ (มีหลายยี่ห้อ) จะเป็นฟิล์มใส เคลือบผ้าไว้ไม่ให้ซึมซับของเหลว เมื่อทำเครื่องดื่มหกรดจะไม่ซึมในทันที แต่จะเกาะเป็นหยดน้ำเล็กๆ อยู่พักหนึ่ง มีระยะเวลาให้หากระดาษชำระมาซับออกได้ทันการณ์ อย่างไรก็ตามสเปรย์ประเภทนี้ไม่ควรฉีดในตัวรถ เพราะละอองของมันจะไปเคลือบความสกปรกให้อยู่ติดกับชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างถาวร เช่นเพดาน และฝาครอบเสาข้าง เป็นต้น
  5. ในระหว่างที่ถอดเบาะออกมาจากตัวรถนั้น ภายในตัวรถจะโล่ง ว่างเปล่าและล่อนจ้อน ไม่สามารถขับไปไหนมาไหนได้ (เพราะไม่มีที่นั่งขับ) และเป็นโอกาสที่เหมาะอย่างยิ่ง ต่อการทำความสะอาดอย่างทั่วถึงทุกซอกทุกมุม ในกรณีนี้ควรจะเตรียมกำลังพลสำรองเอาไว้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อลงมือทำพร้อมกันในคราวเดียว การรื้อรถในครั้งนี้จะได้มีความหมายและเป็นประสพการณ์อันน่าจดจำยิ่งขึ้น
  6. ถ้าหากคุณต้องการจะปรับปรุงสภาพการนั่งของเบาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในที่นั่งคนขับ เช่นปรับความนุ่ม ความแข็ง ทำเบาะเสริมดันหลัง หรือทำเบานั่งให้เป็นตะปูตำก้นแบบโยคี ในการ์ตูน นี่ก็เป็นโอกาสที่เหมาะอย่างยิ่งอีกเช่นกัน รายละเอียดการ Modify เบาะที่นั่งคนขับ ต้องยกให้คุณอนุรัตน์ ผู้ทำให้ Reccaro ต้องร้องไห้กลับอิตาลี ไปนั่งซดลาซานญ่า ด้วยความคับแค้นใจมาแล้ว

สรุปแล้ว เรามารื้อรถกันเถิดครับ ไม่มีรถอะไรอีกแล้วที่มันจะเย้ายวนชวนให้รื้อ ยิ่งไปกว่ารถของเรา เพราะสายเลือด VW (Virtually Worthless) มันเข้มข้น อ้อ ถ้าจะมีรถอีกสักยี่ห้อหนึ่งที่น่ารื้อก็คงจะเป็น Fiat (Fix It Again Tomorrow)  กระมัง ?

เพื่อสะดวกแก่การถอด เราจึงแบ่ง Tip นี้มีออกเป็นส่วนๆ คือ

  1. วิธีถอดพนักพิงศีรษะ
  2. วิธีถอดเบาะนั่งส่วนหน้า
  3. วิธีถอดเบาะนั่งส่วนหลัง

แต่ละส่วนมีเทคนิคอย่างไร ขอเชิญคลิ๊กที่ด้านล่างได้ครับ