Made with Tripod.com

เสียงก๊อกแก๊กในประตู

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฏ์jittik@mozart.inet.co.th



ถ้าคุณเคยเข้าไปอ่าน News Group เกี่ยวกับรถโฟล์คในอินเตอร์เนต  ที่มีการส่งข้อความเข้ามาถามตอบปัญหากันจากทั่วโลก  จะพบว่าปัญหาที่ซ้ำๆ กันในลักษณะหนึ่ง คือเรื่องเสียงรบกวน  ก็อกๆ แก็กๆ  ดังมาจากที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ภายในตัวรถ  ( ฝรั่งใช้คำว่า Rattle )  อันเป็นปัญหาชวนรำคาญใจที่อยู่คู่กับรถโฟล์คมาตลอด  มีผู้รู้ , ผู้รู้ดีมาก ตลอดจน ผู้สู่รู้  เรื่องรถโฟล์คใน Cyberspace หลายต่อหลายคนตอบปัญหานี้ว่าให้ใช้วิธี  "ทำใจ"  หรือ "ทำตัวให้คุ้นเคย"  กับเสียงเหล่านี้  ซึ่งถ้าหากทำได้  ก็จะขับรถอย่างมีความสุขขึ้นอีกมาก

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของเสียงเหล่านี้  เกิดจากปรัชญาการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนในลักษณะ  Modular  กล่าวคือจะผลิตส่วนประกอบเป็นชิ้นเล็กๆ  ที่มีลักษณะและขนาดซ้ำๆ กัน ( Generalize ) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อลดต้นทุน  และเมื่อนำชิ้นส่วนเล็กๆ  เหล่านี้มาประกอบกัน  ก็มีโอกาสที่จะเกิดความหลวมคลอน  และความผิดพลาดระหว่างการประกอบ  อันเป็นต้นตอของเสียงก็อกแก็ก  ได้มากกว่าการออกแบบและผลิตแบบเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งให้เสร็จสมบูรณ์เป็นชิ้นเดียว  ( Localize )  ซึ่งจะสิ้นเปลืองต้นทุนในการออกแบบและผลิตมากกว่า

สำหรับชาวชมรม VW-Thai ที่มือไม้คันคะเยอมาตั้งแต่เกิด คนอื่นๆ เขาเกิดมาพร้อมกับปากคาบช้อนเงินช้อนทอง แต่พวกเราชาว VW-Thai เกิดมาพร้อมกับปากคาบประแจบล็อคและไขควง ก็ยากที่จะละเลยต่อเสียงต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเกิดเสียงก็อกแก็กขึ้นที่ใด จิตใต้สำนึกก็สั่งการให้ย้ำคิดย้ำทำ หมั่นเพียรคุ้ยแคะหาต้นตอเพื่อแก้ไขปัญหาให้จงได้ มาวันนี้ผมก็จะชวนรื้อแผงข้างด้านในของประตูหน้า  อันเป็นแหล่งซ่องสุมของบ่อเกิดเสียงก็อกแก็กที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง ดังต่อไปนี้

สำหรับรถคันที่ไม่ได้ติดกระจกไฟฟ้า ให้เริ่มจากการถอดมือหมุนกระจก ด้วยการจับวงแหวนที่โคนของแกนมือหมุนกระจก  เลื่อนให้ออกไปข้างๆ เพื่อเป็นการปลดล็อคตัวมือหมุน ออกจากแกนโลหะที่โผล่ออกมาจากด้านในประตูรถ  แล้วดึงตัวมือหมุนกระจกออกมาจากแกนตรงๆ  จากนั้นให้ถอดปุ่มล็อคประตูด้วยการหมุนคลายเกลียว  ซึ่งของสองสิ่งนี้จะต้องถอดออกก่อนเพื่อเป็นการบูชาครู  มิฉะนั้นจะถอดแผงประตูไม่ได้เลย  แต่สำหรับรถคันที่ติดกระจกไฟฟ้าซึ่งไม่มีมือหมุนกระจก  ก็ให้ถอดเฉพาะปุ่มล็อคประตูอย่างเดียวก็พอ ทั้งนี้ให้สังเกตุด้วยว่าแกนโลหะของปุ่มล็อคประตูยังโผล่หัวทะลุรูบนแผงข้าง  แพล็มออกมาเล็กน้อย

Door2_1 จากนั้นให้ใช้นิ้วพลังลมปราณ บีบขยุ้มตามลิ้นล็อคของฝาครอบมือจับประตู เพื่อแงะฝาครอบนี้ให้หลุดออกมาจากเบ้า ตัวแผ่นฝาครอบเป็นพลาสติคหนา ให้ตัวได้เล็กน้อย ให้ใจกล้าๆ แงะออกมาเลยไม่ต้องกลัวหัก ตอนจะหลุดออกมาจากเบ้าอาจได้ยินเสียงดัง "กร๊อบ" เหมือนใช้สันมือคาราเต้ สับก้านคอเด็กซนๆ เมื่อหลุดออกมาแล้วให้สังเกตลักษณะของลิ้นล็อค และตำแหน่งล็อคกับเบ้าให้ดีๆ เวลาใส่กลับคืนจะได้ไม่ลำบาก และถ้ามีสายไฟของปุ่มเลื่อนกระจกไฟฟ้า หรือปุ่มปรับกระจกมองข้างรูดตามออกมา ก็ให้ถอดปลายสายด้านที่ติดอยู่กับฝาครอบออกเสียก่อน ฝาครอบจะได้เป็นอิสระหลุดออกมาได้
Door2_2 ข้างในเบ้ามือจับประตูเมื่อเปิดฝาครอบออกมาแล้ว  ก็จะเห็นหัวสกรูว์สี่แฉกขนาดใหญ่สองตัว  ให้ถอดออกด้วยไขควง  สกรูว์สองตัวนี้เป็นตัวหลักที่ทำหน้าที่ยึดมือจับประตู  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผงข้างให้ติดแน่นหนาอยู่กับบานประตู  จึงห้ามทำหายอย่างเด็ดขาด  และเวลาใส่กลับคืน ก็จะต้องขันกลับให้แน่นหนาเพื่อความแข็งแรง
Door2_5 จากนั้นให้เริ่มแงะหมุดพลาสติคตามริมขอบของแผงข้าง  จำนวน 6 ตัว ด้วยความใจเย็น  และด้วยนิ้วมือเปล่าๆ  ห้ามใช้เครื่องมือใดๆ เพราะแผงข้างทำจากกระดาษอัดขึ้นรูป  เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ทะลุฉีกขาดได้ จังหวะที่หมุดแต่ละตัวหลุดออกมาจากจุดยึดจะได้ยินเสียง "ปุ ๆ" ค่อนข้างดัง  ไม่ต้องกลัวว่าจะมีอะไรแตกหัก  เนื่องจากหัวหมุดพลาสติคเหล่านี้ทำไว้ค่อนข้างฟิตมากกับจุดยึด  โดยหัวหมุดตัวผู้จะเสียบอยู่กับแป้นพลาสติคกลมๆ ที่บานประตู  ส่วนจุดยึดที่เป็นหมุดตัวเมีย  จะติดอยู่โดยรอบตามขอบริมด้านในของแผงข้าง  
Door2_3 เมื่อแกะหมุดโดยรอบแผงข้างหลุดออกมาจนครบจำนวนแล้ว แผงข้างก็จะเกิดอาการห้อยกะร่องกะแร่ง จะหลุดมิหลุดแหล่  ให้หาผู้ช่วยที่ไม่เซ้าซี้มาอีกหนึ่งคน เอามาช่วยยกแผงข้างถอดออกช้าๆ จากบานประตู ระหว่างนี้ให้ระวังแกนโลหะของปุ่มล็อคประตูที่ยังโผล่หัวทะลุแผงข้างแพล็มออกมาเล็กน้อย อย่าให้มันไปขูดขีดอะไรเข้าเดี๋ยวแผงข้างจะเสียโฉม
Door2_4 ในจังหวะนี้ตัวคุณเองอาจจะต้องทำหน้าที่ปลดสายไฟ สายลำโพง และอื่นๆ  ที่สอดทะลุจากภายในประตูมาต่อกับขั้วที่อยู่บนด้านในของแผงข้าง  เพื่อให้แผงข้างหลุดออกเป็นอิสระเสรี  สามารถยกออกมาวางนอกตัวรถได้  และเมื่อถอดแผงข้างได้แล้ว  หัวหมุดตัวผู้ก็อาจจะร่วงหลุดออกมาจากแป้นพลาสติคกลมๆ  ที่ยึดติดตายอยู่กับบานประตู  เพราะมันเสียบกันไว้อยู่หลวมๆ  ให้ตามเก็บเอามากองรวมกันไว้ให้ครบ 
เมื่อถอดแผงข้างสำเร็จ  คุณก็จะเห็นแผ่นฉนวนกันน้ำ กันเสียง กันความร้อน ทำด้วยโฟมและพลาสติคนิ่มๆ แปะอยู่ที่บานประตูอีกชั้นหนึ่ง  แผ่นฉนวนนี้ติดอยู่ด้วยวัสดุวิเศษ  เป็นกาวยางดำๆ เละๆ  คล้ายขนมเปียกปูน  มีข้อดีคือหลังจากเมื่อค่อยๆ ลอกออกมา  แล้วแปะกลับเข้าไปใหม่  เศษกาวที่ติดอยู่กับประตูรถส่วนหนึ่ง  และเศษกาวที่ติดอยู่กับแผ่นฉนวนอีกส่วนหนึ่ง  จะประสานกันใหม่เป็นเนื้อเดียวกันได้เองอย่างกับโกหก
Door2_4 ก่อนที่จะลอกแผ่นฉนวนออกมา คุณจะต้องถอดลวดปลดกลอนประตู ออกจากที่เปิดประตูให้ได้ก่อน โดยการค่อยๆ เลื่อนกระเปาะของที่เปิดประตู  (ขออภัยจริงๆ ไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าอะไรดี ) ให้หลุดออกมาจากบานประตู จากนั้นก็ถอดปลายลวดออกมาจากคันง้างในกระเปาะของที่เปิดประตู ซึ่งปลายอีกด้านหนึ่งมันจะจมหายเข้าไปในรูบนแผ่นฉนวน เมื่อคุณลอกแผ่นฉนวนออกมา ต้องให้ปลายลวดลอดผ่านรูที่ว่านี้ แผ่นฉนวนจะได้ไม่ฉีกขาดเสียหาย
จากนั้นให้ค่อยๆ ลอกแผ่นฉนวนทั้งแผ่นออกมาจากบานประตูด้วยความระมัดระวัง พื้นที่บางส่วนของแผ่นฉนวน ที่ถูกกดทับด้วยแป้นพลาสติคสำหรับเสียบหมุดยึดแผงข้างตัวผู้ ในลักษณะยึดติดตาย ก็อาจจะต้องใช้มีดคัทเตอร์กรีดรอบๆ แป้น เพื่อให้แผ่นฉนวนขาดและหลุดออกมาให้ได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องรอยแผล เพราะเมื่อแปะกลับเข้าไปใหม่ เจ้ากาววิเศษมันจะช่วยประสานให้เอง ในการนี้คุณอาจต้องใช้ผู้ช่วยคนเมื่อกี้ มาช่วยกันจับอีกครั้งหนึ่ง
Door2_8 เมื่อลอกแผ่นฉนวนสำเร็จ (ขอภาวนาเอาใจช่วยจริงๆ พ่อเจ้าประคู้ณ ... ) คุณก็จะเห็นกลไกต่างๆ ของระบบเลื่อนกระจก ซึ่งอาจเป็นระบบกลไกธรรมดาหรือไฟฟ้า สามารถใส่มือหมุนทดลองหมุนเลื่อนกระจกขึ้นลงเพื่อหาสาเหตุของเสียงก็ อกแก็ก หรือตรวจหาอาการขัดข้องอื่นๆ ซึ่งเป็นที่รำคาญใจได้อย่างสะดวก ในรายของผม และของคุณเอ้  พบว่าเจ้าตัวการคือจุดยึดสายเคเบิลเลื่อนกระจก ซึ่งเป็นแป้นพลาสติค ที่จะต้องยึดติดกับบานประตูเกิดหลุดตัวด้วยความหลวมเข้าไปห้อยรุ่งริ่งในตั วบาน เวลารถวิ่งก็จะสั่นกระทบกับกระจกดัง ก็อกแก็ก ๆ กวนประสาทยิ่งนัก
Door2_9 ในการนี้ผมแก้ไขด้วยการทำลวดคลิปล็อคจากเศษไม้แขวนเสื้อ  ที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นบ้านคุณจุลเดช  ทำให้แป้นพลาสติคนี้ติดหนึบเป็นการถาวรชั่วฟ้าดินสลายดังรูปประกอบ
Door2_6จากนั้นก็ค่อยๆ ประกอบกลับคืนย้อนรอยวิธีถอด ข้อสำคัญ ในระหว่างการถอดประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้คือต้องทำในเวลา ว่างจริงๆ ด้วยความใจเย็น รอบคอบ และระมัดระวัง อย่าลงมือทำ ถ้ามีโปรแกรมที่จะต้องขับรถพาแฟนไปทำธุระที่ไหนต่อ  เพราะในระหว่างทำคุณอาจเจอปัญหาเฉพาะหน้า หรืออาจจะต้องใช้เวลาเสาะหาต้นเหตุเสียงก็อกแก็กนานกว่าที่คิดไว้  ทำให้งานเสร็จล่าช้ากว่าเวลาที่มี ซึ่งจะทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย เกิดปัญหาชีวิต และกระทบต่อความมั่นคงของชาติในที่สุด  ทำให้ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคขาดความเสมอภาคทางสังคม สมดุลย์จักวาลของคอร์ปเปอร์นิคัส ก็จะสั่นสะเทือนในที่สุด