Made with Tripod.com

ถอดปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิง กอล์ฟ/เวนโต้

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฎ์ jittik@mozart.inet.co.th


ปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิงของรถ กอล์ฟ/เวนโต้ ทำหน้าที่สร้างแรงดันเพื่อส่งให้น้ำมันเชื้อเพลิงไหลออกจากถังไปตามท่อ เพื่อไปจ่ายยังชุดหัวฉีดในห้องเครื่องยนต์ ตัวปั๊มพ์ติดตั้งอยู่ในถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ด้านท้ายของรถ โดยมอเตอร์ปั๊มพ์ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้ในสภาพที่จมอยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลา ( Submersible ) คล้ายๆ กับปั๊มพ์น้ำ “ไดรโว่” ชนิดที่เอาลงไปวางที่ก้นบ่อเลี้ยงปลาได้นั้นเอง ปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิงประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่หนึ่งคือตัวมอเตอร์ปั๊มพ์ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกโลหะ ภายในเป็นมอเตอร์และใบพัด ทรงกระบอกนี้ประกอบอยู่ในโครงพลาสติกสีขาวอีกชั้นหนึ่ง โดยทั้งหมดนี้จะจมอยู่ในน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งที่ก้นถังน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีเขี้ยวสำหรับล็อคโครงพลาสติก ให้ยึดติดแน่นอยู่ในระดับก้นถังตลอดเวลา
ส่วนที่สองคือชุดฝาปิดถังน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งด้านบนภายนอกถังจะเป็นส่วนที่มีท่อจ่ายน้ำมันและท่อรับน้ำมันไหลกลับจากชุดหัวฉีด รวมทั้งปลั๊กเสียบสายไฟ และด้านล่างภายในถังเป็นที่ติดตั้งของอุปกรณ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิงที่คงเหลืออยู่ในถัง

ชุดฝาปิดนี้จะถูกอัดให้ติดแน่นอยู่กับปากถังน้ำมันด้วยวงแหวนเกลียวล็อคและมีซีลยางกันน้ำมันรั่วซึมที่บริเวณรอยต่อของฝาปิดกับปากถัง
ระหว่างส่วนแรกกับส่วนที่สองจะเชื่อมกันด้วยท่อ 2 ท่อ และ สายไฟ 4 เส้น โดยความยาวท่อและความยาวสายไฟจะเผื่อเอาไว้หลวมๆ ให้สะดวกในการถอดประกอบ ปัญหาที่เกิดกับรถของผม ซึ่งทำให้ต้องรื้อชุดปั๊มพ์นี้ออกมา ก็คือเข็มวัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิงในหน้าปัทม์รถอ่านค่าผิดพลาด เมื่อไปเติมน้ำมันเต็มถัง เข็มจะอ่านค่าได้แค่ 1/4 ถัง และพอขับไปสักพัก มันก็จะชี้ที่ขีดแดงอยู่เป็นประจำ ทำให้เวลาเดินทางไกลต้องคอยผวาแวะเติมน้ำมันอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่แน่ใจว่าน้ำมันจะหมดถังจริง ๆ แล้วหรือยัง
โชคดีที่มีผู้ใจบุญซึ่งเพิ่งเปลี่ยนปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิงตัวใหม่ คือ”คุณม้า” แห่ง VW-Thai ได้บริจาคซากปั๊มพ์พ์ตัวเก่ามาให้ศึกษา ในกรณีของคุณม้าที่ต้องเปลี่ยนปั๊มพ์ ก็เนื่องจากตัวปั๊มพ์ชำรุดอ่อนแรงลง ตามสภาพการใช้งานมานานเกินกว่า 200,000 กม. จนไม่สามารถสร้างแรงดันเชื้อเพลิงได้สม่ำเสมอเพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ ซึ่งซากที่ตกมาถึงมือผมนั้น เมื่อได้ทดลองต่อไฟฟ้าขนาด 6 โวลท์ จากถ่านไฟฉาย 4 ก้อน ก็พบว่ามันยังสามารถหมุนได้เอื่อยๆ และมีเศษผงโลหะหลุดร่วงลงมา แต่เมื่อสอบถามเรื่องการทำงานของเข็มวัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง คุณม้า ก็ยืนยันว่าก่อนที่จะเปลี่ยนปั๊มพ์มันยังใช้การได้ดีอยู่
ผมจึงมีความคิดที่จะสลับอวัยวะ โดยการถอดปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิงในรถของผมออกมา แล้วสลับอุปกรณ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง กับอุปกรณ์ชุดที่ติดกับซากปั๊มพ์ของคุณม้า อุปกรณ์ชุดนี้มีลักษณะเป็นลูกลอยคล้ายกับกลไกในส้วมชักโครก โดยลูกลอยที่ปลายแขนจะเคลื่อนที่ตามระดับน้ำมันที่คงเหลือในถัง และการเคลื่อนที่จะบังคับให้ชุดความต้านทานแบบปรับค่าได้ ที่ติดอยู่ใกล้กับจุดหมุนของแขน ปรับค่าไปยังตำแหน่งต่างๆ กัน และส่งค่านั้นไปยังเข็มแสดงผลที่หน้าปัทม์รถ ตัวกลไกชุดลูกลอยจะเสียบติดกับด้านล่างของฝาปิดถังน้ำมันเชื้อเพลิง ยึดติดด้วยสลักล็อค สามารถปลดออกได้ และค่าความต้านทานจากอุปกรณ์วัดระดับ จะอ่านผ่านสายไฟเส้นเล็กๆ สองเส้น ที่บัดกรีติดกับขั้วใต้ชุดฝาปิด ซึ่งจะต้องใช้หัวแร้งบัดกรีจี้ให้ละลายออกมา

ขั้นตอนการถอดปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิง มีดังต่อไปนี้

  1. ถอดขั้วลบแบตเตอรี่

  2. ถอดพนักพิงที่นั่งหลังและยกที่นั่งหลังขึ้น โดยดูรายละเอียดในเรื่อง <LINK>“ถอดผ้าหุ้มเบาะ ออกมาซัก”<LINK> เพื่อให้สามารถดึงแผ่นพลาสติกปูรองพื้นห้องเก็บของ ออกมาจากตัวรถได้สะดวก เนื่องจากที่นั่งหลังและพนักพิงมันขวางอยู่

  3. ใต้แผ่นพลาสติกปูรองพื้น จะมีแผ่นโฟมปรับระดับให้พื้นห้องเก็บของเรียบ ให้ยกแผ่นโฟมนี้ออกมาวางไว้นอกตัวรถ

  4. ถอดยางอะไหล่และเครื่องมือ ที่เก็บเอาไว้ในหลุมเก็บยางอะไหล่ ออกมาวางไว้นอกตัวรถ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้มุดเข้าไปนั่งทำงานได้สะดวกขึ้น

  5. เมื่อมองจากด้านท้ายรถเข้าไป ที่พื้นห้องเก็บของในตำแหน่ง 2 นาฬิกา ของหลุมเก็บยางอะไหล่ จะมีแผ่นสามเหลี่ยม กลมๆ สีดำ ยึดติดกับพื้นรถด้วยสกรูว์ หัว 4 แฉก จำนวน 3 ตัว ให้ถอดออก ก็จะพบว่าใต้แผ่นนี้ คือพื้นตัวถังรถ ที่เจาะเอาไว้เป็นรูกลมๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 ซม. และรูนี้อยู่ตรงกับตำแหน่งของฝาปิดถังน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเราจะต้องถอดปั๊มพ์ และล้วงเอาอุปกรณ์ทั้งหมดผ่านรูนี้ออกมา

  6. ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ จะพบว่าภายในรูที่ว่านี้สกปรกมาก เพราะมันคือส่วนที่เป็นซอกอยู่ใต้ท้องรถ ซึ่งถือเป็นภายนอกตัวถังรถ จะมีขี้ฝุ่น เศษผง อะไรต่อมิอะไร หมักหมมอยู่มากมาย ควรจะทำความสะอาดก่อนโดยเทน้ำล้างลงไปในรู และเช็ดให้แห้ง น้ำจะระบายทิ้งออกมานอกตัวถังรถได้เอง ระวังอย่าเทกระฉอก พลาดเข้ามาในตัวรถก็แล้วกัน

  7. เมื่อภายในรูสะอาดแล้ว จะพบว่ามีขั้วเสียบสายไฟ 1 ชุด ให้ปลดออก และมีท่อน้ำมัน 2 ท่อ ท่อแรกเป็นท่อจ่ายน้ำมันสีดำออกจากปั๊มพ์ และท่อที่สองเป็นท่อสีเขียวรับน้ำมันไหลกลับเข้าปั๊มพ์ ท่อทั้งสองนี้เป็นท่อยาง เสียบติดอยู่กับปลายข้องอ โลหะที่ด้านบนของฝาปิดถังน้ำมัน มีรูปลูกศรแสดงทิศทางการไหลเอาไว้ชัดเจน และมีแหวนสปริงรัดไว้กันหลุด ให้งัดแหวนทั้งสองอันนี้ทิ้งและเตรียมแหวนรัดตัวใหม่ขนาดใกล้เคียงกันเอาไว้ใช้แทน จากนั้นเตรียมดินสอใช้แล้วแท่งสั้นๆ มาสองแท่ง และผ้าขี้ริ้วจำนวนมาก ๆ เอาไว้ใกล้มือ เนื่องจากยังคงมีแรงดันค้างอยู่ในท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าจะดับเครื่องทิ้งเอาไว้นานแล้วก็ตาม ทันทีที่ปลดท่อยางออกจากข้องอ น้ำมันเชื้อเพลิงก็จะพุ่งปรี๊ดสวนออกมาจำนวนมากทั้งจากด้านปลายท่อยางและจากด้านปลายข้องอ สำหรับด้านปลายท่อยางให้ใช้ดินสอเสียบอุดเอาไว้เป็นการห้ามเลือดชั่วคราว และใช้ผ้าขี้ริ้วซับบริเวณปลายข้องอ เพื่อกันบริเวณนั้นไม่ให้น้ำมันเชื้อเพลิงกระเซ็นเลอะเทอะออกนอกรูกลม ๆ ที่พื้นรถ ให้ได้มากที่สุด

  8. เมื่อควบคุมสถานการณ์เลอะเทอะได้แล้ว ก็หาเครื่องมือมาจับวงแหวนพลาสติกที่ยึดชุดฝาปิดถังน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วหมุนบิดทวนเข็มนาฬิกา เพื่อคลายออกมา ถ้าไม่มีเครื่องมือใด ๆ ก็ใช้ไขควงปากแบนอันทู่ๆ ค่อยๆ ตอกสกัดให้มันหมุน ซึ่งค่อนข้างแน่น เพราะคงมีเศษขี้ฝุ่นไปอุดตามร่องเกลียวอยู่จำนวนมาก พอวงแหวนนี้หลุดออกมาได้ ชุดฝาปิดถังน้ำมันก็จะเผยออ้าปากออกให้เห็น ให้ค่อยๆ ขยับชุดฝาปิด หลบท่อต่างๆ ยกออกมา โดยหากาละมังเล็กๆ หรือกล่องขนมปัง ที่ใส่น้ำแล้วไม่รั่ว เอามาวางรองชุดฝาปิดนี้ไว้ เนื่องจากยังคงมีน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วนสามารถไหลออกมาจากชุดฝาปิดได้

  9. ใต้ชุดฝาปิด ( หัวกระสือ ) จะมีท่อและสายไฟต่อนัวเนียลงไปยังชุดปั๊มพ์ ( ไส้กระสือ ) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในขั้นนี้ถ้าเอาไฟฉายมาส่องดู โดยมองผ่านปากถังน้ำมันลงไป ก็จะเห็นชุดปั๊มพ์จมอยู่ในน้ำมันอย่างชัดเจน ขั้นตอนต่อไปต้องไม่กลัวมือเปื้อน ให้ถอดนาฬิกาข้อมือ แล้วล้วงมือทั้งสองข้างผ่านรูที่พื้นรถ ผ่านปากถังน้ำมัน เอามือจุ่มน้ำมันลงไปจับที่บริเวณฐานของปั๊มพ์ จับให้แน่นแล้วบิดหมุนทวนเข็มนาฬิกา จนปั๊มพ์หลุดออกจากเขี้ยวล็อคที่ก้นถัง แล้วค่อยๆ พยุงชุดไส้กระสือนี้ขึ้นมา ขั้นตอนนี้ต้องระวังว่ายังมีน้ำมันค้างอยู่ในปั๊มพ์ ถ้าทำปั๊มพ์เอียงจากแนวดิ่ง จะมีน้ำมันไหลออกมาได้อีกมาก ให้วางไส้กระสือบนกาละมังอันเดียวกับชุดหัวกระสือ แล้วรีบนำออกมาจากตัวรถ กันอุบัติเหตุกระบะล้ม แล้วน้ำมันเบนซินหกนองพื้นรถ ซึ่งจะเป็นนิยายชีวิตเรื่องยาว
    จากนั้น ถ้าใครมีอะไหล่ปั๊มพ์ตัวใหม่ ก็ประกอบกลับเข้าไปย้อนรอยขั้นตอนการถอดออก แต่สำหรับผม ก็ต้องนำชุดหัวกระสือในรถเ อาไปผ่าตัดสลับเปลี่ยนชุดลูกลอย กับชุดลูกลอยที่ถอดออกมาจากซากปั๊มพ์ของคุณม้า โดยบัดกรีสายใหม่ ทำความสะอาด แล้วจึงประกอบกลับ ซึ่งจะมีข้อควรระวังคือ การล็อคตัวปั๊มพ์เข้ากับเขี้ยวที่ก้นถังต้องลงล็อคแน่นหนาจริงๆ และตอนประกอบชุดฝาปิด จะขลุกขลักเรื่องซีลยางที่ขอบฝาถังน้ำมันบ้างเล็กน้อย เพราะทำมาค่อนข้างฟิต และก่อนใส่ฝาวงแหวนยึดชุดฝาปิด ต้องแน่ใจว่าซีลอยู่ในสภาพที่เรียบร้อย ไม่ฉีกขาดหรือปลิ้นออกมาตามมุมใดมุมหนึ่ง

ขอให้โชคดีนะครับ


คำบรรยายภาพ

ที่เห็นกองเขละ อยู่นี่คือปั๊มพ์น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบที่ถอดออกมาแล้ว ฝาดำๆ ข้างบนที่มีท่อโลหะ 2 ท่อ คือชุดหัวกระสือ ซึ่งจะเป็นฝาปิดถังน้ำมันด้านบน ส่วนโครงพลาสติกสีขาวและอุปกรณ์อะไรสักอย่างที่กองอยู่ข้างหลัง ก็คือชุดไส้กระสือ ซึ่งจะจมอยู่ในถังน้ำมัน และถูกน้ำมันท่วมอยู่ตลอดเวลา ระหว่างหัวกับไส้ จะเชื่อมกันด้วยท่อและสายไฟยุ่งๆ ดังในภาพ
ในชุดไส้กระสือ สามารถถอดโครงพลาสติกแยกออกมาได้เป็นสองส่วน ส่วนล่างจะมีเขี้ยวล็อค ยึดติดแน่นกับก้นถังน้ำมัน ส่วนบนที่มือประคองเอาไว้ และเห็นกระบอกโลหะอยู่ภายใน เมื่อประกอบลงไปแล้วจะขยับตัวได้เล็กน้อย โดยมียางรูปตัวโอใหญ่ๆ สีดำ ตามในภาพ ทำหน้าที่เป็นตัวกันสะเทือนเวลารถวิ่ง ส่วนที่เป็นมอเตอร์ปั๊มพ์จะอยู่ในทรงกระบอกโลหะนั่นแหละครับ
นี่คือด้านล่างของชุดหัวกระสือ ท่อสีน้ำตาล 2 ท่อนั้น ท่อหนึ่งต่อมาจากมอเตอร์ปั๊มพ์ ทำหน้าที่จ่ายน้ำมันออกไปให้ชุดหัวฉีด ส่วนอีกท่อหนึ่งรับน้ำมันส่วนเกินจากหัวฉีดเอามาปล่อยคืนกลับถัง สายไฟสีดำกับสีน้ำตาลนั่นสำหรับจ่ายไฟตรง 12 Volt ให้มอเตอร์ปั๊มพ์ ส่วนขั้วสายอีก 2 ขั้วระหว่างสายไฟทั้งสองเส้น มีเอาไว้ต่อสายไฟไปยังชุดอุปกรณ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ( ซึ่งในภาพผมได้ตัดออกแล้ว และจะต้องบัดกรีเข้าไปใหม่ก่อนประกอบกลับ ตามรายละเอียดในเรื่อง )
ภาพนี้คือด้านล่างของกระบอกโลหะอันเป็นตัวเรือนของมอเตอร์ปั๊มพ์ ที่ลูกศรชี้คือใบพัดปั๊มพ์ ซึ่งเมื่อมันหมุนทำงาน ก็จะดูดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าทางรูนี้ และอัดแรงดันผ่านท่อออกไปทางชุดหัวกระสือ มอเตอร์ปั๊มพ์ที่พัง เคยพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากชิ้นส่วนใบพัดหัก และเศษชิ้นส่วนเข้าไปติดขัดขวางการหมุนของมอเตอร์ คุณไก่ ได้แนะนำเทคนิคการเอาตัวรอด ในกรณีปั๊มพ์ขัดข้องกลางทาง โดยการถอดเอาปั๊มพ์ออกมาแล้วเคาะด้านข้างของกระบอกมอเตอร์ เผื่อว่าอะไรที่ติดขัดมันจะหลุดร่วงลงมาแล้วปั๊มพ์มันจะหมุนต่อได้อีกสักพัก ซึ่งอาจจะพอวิ่งกลับถึงบ้านได้
ภาพนี้คือชุดอุปกรณ์วัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผมได้ตัดออกมาจากชุดไส้กระสือ ที่ปลายแขนทางด้านขวาซึ่งเห็นเป็นก้อนดำๆ นั้นคือลูกลอยซึ่งจะพยายามลอยตัวเหนือระดับน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่ในถัง คล้ายๆ กับกลไกลูกลอยในส้วมชักโครก ซึ่งลูกลอยจะบังคับให้แขนหมุนทำมุมต่างๆ กันตามระดับน้ำมันเชื้อเพลิงที่แสดงให้ดู
ภาพนี้ซูมเข้ามาดูที่จุดหมุนของแขนลูกลอย ตรงลูกศรสีเหลืองคือแถบความต้านทานที่จะส่งค่าต่างๆ กันกลับออกไปตามสายไฟที่เห็นในภาพ ซึ่งค่าความต้านทานนี้ จะถูกคำนวณและแสดงผลที่เกจ์วัดระดับน้ำมันที่หน้าปัทม์รถ ในกรณีที่เกจ์แสดงค่าผิดพลาด เช่นเติมน้ำมันเต็มถังแล้วเข็มไม่ยอมขึ้นหรือขึ้นนิดเดียวไม่ได้สัดส่วน ถ้าหากตัวเกจ์ไม่ชำรุด ก็เป็นเจ้าตัวในภาพนี้แหละครับที่ชำรุด ที่บริเวณปลายลูกศรจะสังเกตเห็นร่องรอยการสึกหรอของแถบโลหะ ซึ่งขูดขีดเป็นรอยเนื่องจากถูกใช้งานมานานเต็มทน