Made with Tripod.com

อาการกระด้างของช่วงล่าง

โดย คุณจิตติ กิตติวิศิษฏ์ (jittik@mozart.inet.co.th)



ช่วงล่างของรถโฟล์ค กอล์ฟ / เวนโต้ รุ่นที่ขายอยู่ในบ้านเรา ถูก Set ค่าความแข็งของสปริง และ ค่าความหนืดของ ช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ ให้อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างนุ่ม เหมาะสำหรับควบปุเลงๆ ด้วยความเร็วที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ถ้าผู้ขับขี่มีนิสัยชอบใช้เท้าบดขยี้คันเร่งสลับกับแป้นเบรคอย่างเมามัน ในจังหวะออกเอี๊ยด, เบรคพรวด เข้าโค้งแต่ละทีต้องเอียงคอชดเชยแรง G อย่างกับขับเครื่องบิน F-16 อยู่เป็นประจำ ก็จะรู้สึกได้ถึงอาการโคลงเคลงประดุจเรือหางยาว และผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก สตรี และคนชรา ก็อาจจะเมารถและอาเจียรออกมาเลอะเทอะได้ ในกรณีเช่นนี้ คุณจุลเดช และคุณปกรณ์พล ได้ยืนยันคอเป็นเอ็นว่าสมควรเปลี่ยน ช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ ให้มีความหนืดมากขึ้น เพื่อชดเชยอาการโคลงเคลงดังกล่าว แต่ก็จะต้องแลกด้วยความกระด้างขึ้นเล็กน้อย ซึ่งก็ไม่ถึงกับเป็นข้อเสียหายแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับจะให้ความรู้สึกว่าช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ชุดใหม่ที่หนืดกว่าเดิมนี้ ช่วยซึมซับแรงสะเทือนได้กระชับหนึบหนับขึ้นเสียอีก ทำให้ขับสนุกขึ้นเป็นกอง รายละเอียดในเรื่องนี้ถ้าสนใจให้สอบถามเจ้าตัวได้โดยตรง เพราะอาการกระด้างของช่วงล่างที่ผมกำลังจะเขียนถึงนี้ มันเป็นอาการกระด้างอีกอย่างหนึ่ง เป็นอาการในทางลบที่ไม่ได้ช่วยซึมซับแรงสะเทือนแต่อย่างใด และไม่ได้ช่วยให้ขับสนุกขึ้นเลย เพราะมันสะเทือนเขย่าไปทั้งคันและมีเสียงกุกกักดังผิดปกติ ราวกับมีคอกปศุสัตว์อยู่ในท้ายรถ

อาการดังกล่าวนี้เกิดจากการชำรุดของชุดลูกยางรับแรงกระแทกจาก ช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ทั้งคู่หน้าและคู่หลังตามภาพประกอบ
Bearing_Housing
ซึ่งชุดลูกยางนี้เมื่อประกอบเข้าในชุดสตรัทล้อแล้ว จะอยู่คั่นกลางระหว่างตัวถังรถและช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ เพื่อเป็นตัวกันไม่ให้ชิ้นส่วนที่เป็นโลหะกระทบกระทั่งกันโดยตรง ตามจังหวะการ กระแทก กระทั้นของล้อกับผิวถนน การชำรุดของชุดลูกยางนี้ เกิดขึ้นจากการสูญเสียความยืดหยุ่นของเนื้อยางเอง ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยตามอายุการใช้งาน และตามสภาพความเป็นหลุมเป็นบ่อประดุจทางเกวียนที่สารพัดหน่วยงานช่วยกันขุดๆ กลบๆ อยู่ตลอดเวลาเสียจนถนนกรุงเทพ กลายเป็น Site งานก่อสร้างถาวรขนาดยักษ์ไปทั่วทุกหัวระแหง เมื่อชุดลูกยางนี้ชำรุดมากเข้าๆ จนถึงจุดหนึ่ง ก็จะแข็งโป๊กเหมือนกระบอกข้าวหลามแม่แต๋วหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ และไม่สามารถช่วยรับแรงกระแทกได้ดีเหมือนเดิม ถึงจุดนี้รถของคุณก็จะเกิดอาการกระด้าง และมีเสียงกุกกัก ให้ Feeling เหมือนขับเกวียนจริงๆ คลานต้วมเตี้ยมไปตามท้องนาเมืองบางกอก

RubberDamper_Rear เนื่องจากอาการกระด้างที่ว่านี้ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ผู้ที่ต้องขับผ่านเส้นทางมารผจญ อยู่ทุกวันอาจจะไม่ทันสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลง (ในทางเลวลง) ที่เกิดขึ้น เว้นเสียแต่ว่ามันจะสะเทือนเลื่อนลั่นจนรับไม่ไหวเอาจริงๆ หรือจะรู้สึกได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อ ได้มีโอกาสขับรถรุ่นเดียวกันคันใหม่ๆ หรือคันที่สภาพชุดลูกยางรับแรงกระแทกยังดีๆ อยู่ เป็นการเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่นเมื่อมาทดลองขับรถของเพื่อนๆ เวลา Meeting ชมรม โฟล์ค แล้วก็เก็บไปนั่งน้อยอกน้อยใจ ว่าทำไมช่วงล่างของรถอาตมามันถึงไม่กระชับอย่างของชาวบ้านเขา พออาการรุนแรงได้ที่อย่างนี้แล้วก็สมควรที่จะไปร้านอะหลั่ยซื้อหาลูกยางชุดใหม่มาเป ลี่ยน เพื่อให้อาการน้อยใจทุเลาลง

การเปลี่ยนชุดลูกยางรับแรงกระแทกนี้เห็นทีจะต้องบอกว่าไม่ใช่ของหมูๆ ชนิดตื่นนอนตอนบ่ายๆ วันอาทิตย์ บิดขี้เกียจแล้วก็ลงมือทำเล่นเองได้ที่บ้าน (ยกเว้นว่าครอบครัวของคุณ ดำเนินกิจการซ่อมช่วงล่าง) เพราะต้องเอารถขึ้นไปวางไว้บน Hoist และรื้อชุดสตรัทล้อออกมาทั้งหมด จำเป็นต้องมีเครื่องมือถอดคอล์ยสปริงและช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ แถมเมื่อประกอบกลับเข้าไปแล้ว ก็ยังต้องไปตั้งศูนย์ล้อใหม่อีกด้วย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ จึงน่าที่จะวางแผนการซ่อมบำรุงช่วงล่าง ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายแหล่ในคราวเดียวกัน เพื่อที่จะไม่ต้องเสียค่าแรงถอดประกอบ ซ้ำซ้อนกันหลายๆ ครั้ง อาทิเช่น ผู้ที่ต้องการเปลี่ยน ช็อคแอ็บซอร์บเบอร์ ใหม่ตามอย่าง คุณจุลเดช และคุณปกรณ์พล ก็น่าที่จะเปลี่ยนชุดลูกยางนี้ไปพร้อมกันเลย ถ้าอายุการใช้งานของชุดลูกยางเกินกว่า 60,000 Km บนถนนท้องทุ่งแห่งเมืองบางกอกนี้