Made with Tripod.com

ตั้งไฟรถโฟล์คเต่า

โดย คุณสิริชัย สุเมธวรกุล   kook_gai@usa.net



        ผู้ใช้รถโฟล์กหลายคนมีความเป็นช่างอยู่ในตัวเอง บางคนนึกสนุกอยากจะลองปรับแต่งเครื่องยนต์ เพื่อทำให้เครื่องนั้นได้ประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือเพื่อเป็นการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เผื่อในยามฉุกเฉินก็สามารถที่จะประครองรถกลับบ้านได้...โดยที่ไม่ต้องกินข้าวลิง  เรามาดูว่าเครื่องรถเต่านั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรกันดีกว่า

        เครื่องรถเต่านั้นเป็นระบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนเครื่องยนต์ของรถทั่วในปัจจุบัน  เครื่องยนต์รถเต่าเป็นเครื่อง 4 สูบ นอนขนานกับแนวพื้นโลก  ข้างละ 2 ลูกยันเข้าหากัน เครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ ไม่มีหม้อน้ำ ระบบจ่ายน้ำมันเป็นคาร์บูเรเตอร์ดูดลง 1 ตัว มีเพลาลูกเบี้ยว 1 เส้นลูกเบี้ยว 4 ลูก แต่สามารถกดวาวล์ได้ 8 ตัว  อันนี้น่าสนใจนะครับว่าเขาทำงานได้อย่างไร.... การระบายความร้อน ใช้ลม และ น้ำมันเครื่องเป็นตัวระบายความร้อน   นี่คือข้อมูลคร่าวๆ ของเครื่องยนต์รถโฟล์กเต่า หรือเรียกว่าเครื่องยต์ 3 ธาตุ ( ดิน-ลม-ไฟ ) แต่หัวข้อของเราวันนี้ก็คือการตั้งไฟ  และก่อนที่เราจะตั้งเริ่มตั้งไฟ เราจำเป็นที่จะต้องรู้จักส่วนประกอบบางส่วนเสียก่อน อย่างแรกที่ควรจะต้องรู้จักก็คือ จานจ่าย อย่างที่สองก็คือ พู่เล่หน้า

      จานจ่ายจะยึดติดกับเสื้อเครื่องทางซีกซ้าย (สมมติว่ายืนหันหน้าไปทางเดียวกับรถ) จะอยู่ใกล้กับปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง (ปั๊ม เอ-ซี)  จานจ่ายทำหน้าที่จ่ายไฟสูงไปให้กับหัวเทียนเพื่อทำการจุดประกายไฟ  ในจานจ่ายจะมีหัวนกกระจอก ทำหน้าที่เหมือนกับสะพานไฟ จ่ายไฟสูงไปให้กับหัวเทียนทั้ง 4 หัวในเวลาที่ต่างกัน และตำแหน่งการจุดระเบิดของเครื่องก็คือ 1-4-3-2

     พู่เล่หน้า เป็นที่อยู่ของ รอยบากศูนย์ตายบน (TDC) top dead center รอยบากศูนย์ตายบนของรถแต่ละรุ่นก็จะไม่เหมือนกัน ให้ดูจากรูปภาพประกอบ

Timing

      ในการตั้งไฟนั้นจะมี 2 วิธีก็คือ

  1. ใช้ timing light ในการตั้ง
  2. ไม่มี timing light 

ทั้ง 2 แบบก็ให้ความแน่นอนได้ใกล้เคียงกัน (จากประสบการณ์) เรามาเริ่มกันเลยนะครับ

*** ก่อนการตั้งไฟนั้นจะต้องแน่ใจก่อนว่าระยะห่างของหน้าทองขาวนั้นถูกต้องเสียก่อน และเครื่องยนต์จะต้องมีการอุ่นเครื่องให้ได้อุณหภูมิทำงานก่อนนะครับ   *** ระยะห่างของหน้าทองขาว 0.016 นื้ว ***

     การตั้งไฟโดยใช้ timing light

1. ต่อสาย + (สีแดง) ของtiming light  กับขั้วเบอร์ 15 ที่คอล์ย  สาย - (สีดำ) กับกราวนด์ (ตัวถังรถ) และเส้นที่เหลือกับสายหัวเทียนของสูบที่ 1 (จะอยู่ด้านในสุดขวามือ)

2. คลายน็อตยึดเรือนจานจ่ายให้สามารถหมุนจานจ่ายด้วยมือได้

3. สตาร์ทเครื่องยนต์

** ข้อควรระวัง** อย่าให้มือและ สายไฟเข้าไปใกล้กับสายพานที่กำลังหมุน อย่าสวมถุงมือที่หลวม ระวังผมที่ยาวและสร้อยคอ จะเข้าไปพันกับสายพานที่กำลังหมุน  เพราะจะทำให้แกะยากจริงๆ

4. เล็ง timing light ไปที่รอยต่อระหว่างเสื้อเครื่อง จากข้อมูลของโรงงาน เครื่องก่อนเดือนสิงหาคม 1967 จะมีรอยบากอยู่ 2 รอย รอยที่อยู่ทางซ้ายมือจะเป็นตำแหน่ง 7.5 องศาก่อน ศูนย์ตายบน และรอยบากทางขวามือจะเป็น 10 องศาก่อนศูนย์ตายบน และเครื่องยนต์หลังจากนั้นจะมีรอยบาก มากกว่า 2 รอย รอยซ้ายมือสุดจะเป็น 0 องศา ถัดมาทางขวามือจะเป็น 7.5 องศา และ 10 องศาตามลำดับ ***ในการตั้งไฟ ให้ปลดสาย แวคคั่มที่ต่อมายังจานจ่ายด้วย ถ้าเป็นรุ่นที่มี สายแวคคั่ม 2 เส้นก็ให้ปลดทั้ง 2 เส้นด้วย

5. ใช้มือหมุนเรือนจานจ่ายจนรอยบากตรงกับต่ำแหน่งของรอยประกบของเสื้อเครื่อง ต่ำแหน่งของการจุดระเบิด ให้ถือเอาตามที่โรงงานกำหนดมา ของเครื่องแต่ละรุ่น หรืออาจจะดูตามตารางเป็นที่อ้างอิง

1954 ถึง 1965 10 องศา ก่อนศูนย์ตายบน (BTDC)
1966 ถึง 1967 ระหัสเครื่องที่เริ่มต้นด้วย FO หรือ HO 7.5 องศา ก่อนศูนย์ตายบน (BTDC)
1967 ถึง 1970 ระหัสเครื่องที่ขึ้นต้นด้วย H5, เครื่องหัวฉีด และ เครื่องเกียร์ออโต้ 0 องศา (TDC)
1970 ถึง 1973 คาร็บูเรเตอร์ และเครื่อง หัวฉีด เกียร์ธรรมดา 5 องศา หลังศูนย์ตายบน (ATDC)
1973  และ 1974 เครื่องคาร์บูเรเตอร 7.5 องศา ก่อนศูนย์ตายบน (BTDC)
1975 และหลังจากนั้นลงมา เกียร์ธรรมดา 5 องศา หลังศูนย์ตายบน (ATDC)
1975  และหลังจากนั้นลงมา เกียร์ออโต้ 0 องศา(TDC)

6. หลังจากที่ได้ปรับแต่งตำแหน่งการจุดระเบิดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดับเครื่องยนต์  ขันน๊อตยึดเรือนจานจ่ายให้เรียบร้อย

7. ลองสตาร์ทเครื่องดู และ ตรวจสอบตำแหน่งการจุดระเบิดอีกครั้งหนึ่ง ถ้าถูกต้อง ดับเครื่อง ปลดสาย timing light เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

     การตั้งไฟโดยไม่มี timing light 

*** ระยะห่างของหน้าทองขาวต้องถูกต้องก่อนนะครับ *** ระยะห่างของหน้าทองขาว 0.016 นื้ว ***

1. เปิดฝาจานจ่าย หมุนเครื่องยนต์ด้วยมือ จนตำแหน่งของหัวนกกระจอกหันไปที่ตำแหน่งของสูบ 1 ( สังเกตุดูจากตำแหน่งของสายหัวเทียนที่มาต่อที่ฝาครอบจานจ่าย แล้วมองที่ พู่เล่หน้า เล็งตำแหน่งขององศาการจุดระเปิดของเครื่องตามสเป็คที่โรงงานกำหนดมา เช่น 7.5 องศาก่อนศูนย์ตายบน หรือ ที่ศูนย์ตายบน ให้ตรงกับตำแหน่งประกบของเสื้อเครื่อง

2. คลายน็อตยึดเรือนจานจ่าย เปิดสวิตท์กุญแจ แต่ไม่ต้องสตาร์ทเครื่องยนต์

3. หมุนจายจ่ายตามเข็มนาฬิกาจน หน้าทองขาวประกบกันจากนั้นหมุนทวนเข็มนาฬิกาจนหน้าทองขาวแยกออกจากกัน จะเห็นประกายไฟเกิดขึ้นที่หน้าทองขาว เอามือออกจากจานจ่าย และห้ามขยับจานจ่ายอีก

4. ยึดเรือนจายจ่าย

5. ปิดฝาครอบเรือนจายจ่าย  เป็นอันเสร็จ

6. วิธีนี้แนะนำให้ใช้กับจายจ่ายของ บ๊อชรุ่น 050, 009 และ 094 เท่านั้นนะครับ

* หมายเหตุ * ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางการตั้งไฟหรือเครื่องยนต์ของโฟล์กเต่า แต่บทความนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมทดลองใช้และศึกษามาตลอดที่ใช้เจ้าเต่าทองของผม เพราะฉะนั้นหากท่านผู้ใดอยากจะมีข้อเสนอแนะหรือแก้ไขขอเชิญส่งมาได้ที่ kook_gai@usa.net จะเป็นพระคุณมาก***

เอกสารอ้างอิง
VW Beetle & Karmann Ghia  ....................................HAYNES (us)